เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT-chest)

การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกช่วยบอกรอยโรคภายในทรวงอกที่มีอาการแต่ไม่เห็นจากเอกซเรย์ธรรมดา อีกทั้งยังช่วยคัดกรองมะเร็งปอดในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ด้วยเทคนิคที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกมีการตรวจแยกกัน 4 แบบ คือ

  1. Low dose CT-Chest
  2. เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกด้วยปริมาณรังสีที่ต่ำ เพียง 1.5-2.0 mSv (เมื่อเทียบกับ Standard CT-Chest ซึ่งใช้รังสี 7 mSv) แต่ยังให้ภาพ 3 มิติและเห็นรายละเอียดได้ดี เหมาะสำหรับการคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง แต่การตรวจ Low dose CT-Chest นี้ยังไม่มีในทุกโรงพยาบาลของประเทศไทย จึงยังไม่สามารถเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดมาตรฐานแทนเอกซเรย์ทรวงอกธรรมดาได้

    การตรวจ Low dose CT-Chest ไม่ต้องมีการเตรียมตัวพิเศษ ไม่ต้องงดอาหาร ไม่ต้องเจาะเลือดดูการทำงานของไตก่อน สามารถทำได้เลย เพียงเปลี่ยนชุดกาวน์แล้วนอนบนเตียงตรวจของเครื่อง CT กลั้นหายใจระหว่างสแกนประมาณ 30-60 วินาที ใช้เวลาบนเครื่อง CT ทั้งหมดประมาณ 5-10 นาที

  3. Standard CT-Chest non-contrast
  4. เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกด้วยรังสีมาตรฐานที่ไม่มีการฉีดสารทึบรังสี มีข้อบ่งชี้ในการตรวจดังนี้

    • ประเมินก้อนเดี่ยวในปอดที่พบจากเอกซเรย์ทรวงอกธรรมดา (solitary pulmonary nodule) - หากสงสัยมะเร็งมากควรทำแบบฉีดสารทึบรังสี เพราะจะดูรายละเอียดของหลอดเลือดภายในก้อนและต่อมน้ำเหลืองที่อาจมีการแพร่กระจายได้ชัดกว่า
    • ประเมินภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด ที่มองไม่เห็นจากเอกซเรย์ทรวงอกธรรมดา
    • แยกภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ ภาวะปอดแฟบ ภาวะของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอด และภาวะน้ำท่วมปอด ออกจากกัน ในรายที่เอกซเรย์ทรวงอกธรรมดาแยกไม่ได้ - หากสงสัยหนองจากการติดเชื้อหรือเลือดจากมะเร็งในช่องเยื่อหุ้มปอด ควรทำแบบฉีดสารทึบรังสี
    • ประเมินโรคของเนื้อปอดส่วนที่อยู่ระหว่างถุงลม (interstitial lung diseases) - แต่ High Resolution CT-chest เห็นชัดกว่า
    • ต้องการตัดชิ้นเนื้อในทรวงอกโดยใช้ CT นำทาง
    • วินิจฉัยอวัยวะที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น กระดูกสันหลัง ซี่โครง เนื้อปอด หัวใจ เส้นเลือด ฯลฯ

    การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกแบบนี้ไม่ควรทำในหญิงมีครรภ์ เพราะจะได้รับรังสีมากกว่าธรรมดา ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ

  5. Standard CT-Chest with contrast
  6. เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกด้วยรังสีมาตรฐานที่มีการฉีดสารทึบรังสีด้วย ซึ่งต้องระวังในผู้ที่มีไตเสื่อมหรือไตวาย และผู้ที่แพ้สารทึบรังสี แต่การฉีดสารทึบรังสีก็จำเป็นในกรณีดังต่อไปนี้

    • ประเมินระยะของมะเร็งก่อนการรักษา
    • ติดตามผลการรักษามะเร็งทั้งระหว่างและหลังสิ้นสุดการรักษา
    • สงสัย pulmonary embolism หรือ AVM (ให้ทำ CT pulmonary angiography)
    • สงสัย SVC syndrome (ให้ทำ CT pulmonary venography)
    • สงสัยมะเร็งปอด
    • สงสัยการติดเชื้อของผนังทรวงอกหรือภายในเมดิแอสตินั่ม
    • สงสัย aortic aneurysm หรือ aortic dissection

    การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกแบบที่ต้องฉีดสารทึบรังสีนี้จะทำให้การทำงานของไตแย่ลงชั่วคราว แย่มาก-น้อยขึ้นกับความเสื่อมของไตที่มีอยู่เดิม จึงต้องตรวจเลือดดูการทำงานของไตก่อนทุกครั้ง และต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ 6 ชั่วโมง (แต่สามารถรับประทานยาประจำที่จำเป็นได้ด้วยน้ำเล็กน้อย) หากมีประวัติแพ้สารทึบรังสีมาก่อน หรือแพ้อาหารทะเล แพ้ยา หรือมีโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคลมบ้าหมู ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับการตรวจ

  7. High Resolution CT-Chest (HRCT-Chest)
  8. เป็นการตัดภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่บางเพียงคัทละ 1-2 มิลลิเมตร แล้วเว้นห่าง 10-20 มิลลิเมตร (Standard CT ตัดหนาคัทละ 5-10 มิลลิเมตร และไม่เว้นช่วงห่าง) อีกทั้งยังมีการสแกนช่วงที่หายใจเข้าเทียบกับช่วงที่หายใจออก หรือทำในท่านอนคว่ำ ทำให้เห็นรายละเอียดที่เล็กถึง 0.2-0.3 มิลลิเมตรได้โดยไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี รอยโรคเล็ก ๆ พวกนี้จะอยู่ในเนื้อปอดส่วนที่อยู่ระหว่างถุงลม (interstitial), หลอดลมฝอย, ถุงลม, เยื่อหุ้มปอด ดังนั้น HRCT-Chest จึงเหมาะสำหรับการวินิจฉัยโรคดังต่อไปนี้

    • Chronic diffuse interstitial lung diseases, chronic diffuse infiltrative lung diseases, occupational lung diseases (pneumoconiosis), idiopathic pulmonary fibrosis, progressive systemic sclerosis, interstitial pneumonitis, Pneumocystis carinii pneumonia, pulmonary lymphangitic carcinomatosis, hypersensitivity pneumonitis, sarcoidosis, Langerhans' cell histiocytosis, lymphangioleiomyomatosis
    • Localized pulmonary atelectasis
    • โรคของหลอดลม เช่น bronchiectasis, bronchiolitis, chronic lung transplant rejection
    • โรคของเยื่อหุ้มปอด เช่น asbestosis, pleural plaques, mesothelioma, pleural fibrosis
    • Chonic pulmonary embolism
    • ผู้ที่ไอเป็นเลือดแต่เอกซเรย์ทรวงอกปกติ
    • ติดตามผลการรักษาโรคดังกล่าวข้างต้น
    • ต้องการตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กในทรวงอกโดยใช้ HRCT-Chest นำทาง
    • แยก Cystic lung diseases ออกจาก emphysema
    • แยกหลอดเลือดเล็ก ๆ ออกจาก miliary nodules
    • ใช้ดูรอยโรคในทรวงอกสำหรับผู้ที่อ้วนมาก ๆ (Standard CT เห็นไม่ชัด)

    การตรวจ HRCT-Chest ใช้รังสีระหว่าง 0.308-7.518 mSv (ขึ้นกับจำนวนคัท) การได้รับรังสีจึงไม่ต่างกับการทำ Standard CT-Chest และผู้ป่วยไม่ต้องงดอาหารและน้ำก่อนทำการตรวจ

หลังการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นหรือนอนในโรงพยาบาล ยกเว้นเป็นผู้ป่วยในอยู่ก่อน

บรรณานุกรม

  1. Takeshi Kubo, et al. 2016. "Standard-dose vs. low-dose CT protocols in the evaluation of localized lung lesions: Capability for lesion characterization—iLEAD study." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Eu J Radiology Open. 2016;3:67-73. (6 ธันวาคม 2563).
  2. Camila Piza Purysko, et al. 2016. "When does chest CT require contrast enhancement?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CCJM. 2016;83(6):423-426. (6 ธันวาคม 2563).
  3. Ella A. Kazeroni. 2001. "High-Resolution CT of the Lungs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AJR. 2001;177(3):501-519. (6 ธันวาคม 2563).
  4. จันทนา วงศ์สิทธิกร. 2008. "การตรวจ HRCT ของปอด." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สววรค์ประชารักษ์เวชสาร. 2551;5(3):976-986. (6 ธันวาคม 2563).
  5. Sarah Skinner. 2015. "Guide to thoracic imaging." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Aus Fam Physician. 2015;44(8):558-62. (6 ธันวาคม 2563).