เอกซเรย์ทรวงอก (Chest x-ray, CXR)
การถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อคัดกรองมะเร็งปอดปัจจุบันไม่ทำกันแล้ว เพราะไม่สามารถเห็นมะเร็งระยะเริ่มแรกได้ ประเทศทางตะวันตกแนะนำให้ทำ Low dose CT-chest แทน แต่การเอกซเรย์ทรวงอกยังเป็นการคัดกรองการตรวจสุขภาพทั่วไปในประเทศไทยอยู่ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราได้ข้อมูลสำคัญถึง 9 ส่วน ดังนี้
- เนื้อปอด ปกติไม่ควรจะมีฝ้าขาวหรือก้อนอยู่ในเนื้อปอด หากมีต้องหาสาเหตุ ฝ้าขาวอาจเป็นพังผืดหรือแผลเป็นจากโรคปอดรุนแรงในอดีต หรือเป็นปอดอักเสบ ณ ปัจจุบัน หรือมีปอดแฟบ หรือมีน้ำ/หนอง/เลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด ก้อนอาจเป็นเนื้องอก หัวนม หรือวัตถุนอกตัวผู้ป่วย
เอกซเรย์ทรวงอกเป็นข้อบ่งชี้ในการดูเนื้อปอดสำหรับผู้ที่มีอาการเหล่านี้
- ไข้ + ไอ + เหนื่อยหอบ
- เจ็บอกเวลาหายใจเข้า
- ไอเป็นเลือด
- ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์
- แพทย์ฟังเสียงปอดพบความผิดปกติ
- เยื่อหุ้มปอด ปกติจะมองไม่เห็นเพราะปอดขยายเต็มทรวงอก ถ้ามองเห็นแสดงว่ามีปอดแตก ลมในปอดรั่วออกมาดันปอดให้แฟบลง
- หลอดลม ภายในหลอดลมใหญ่ไม่ควรมีวัตถุ แขนงของหลอดลมฝอยส่วนปลายก็ไม่ควรจะเห็นชัด คนที่สูบบุหรี่มักมีหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้เห็นหลอดลมฝอยชัด ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคถุงลมโป่งพอง (COPD)
- ขั้วปอดและเมดิแอสตินั่ม ขั้วปอด 2 ข้างไม่ควรมีฝ้าหรือก้อนขาว ฝ้าอาจเป็นภาวะปอดชุ่มน้ำ (ก่อนจะมีน้ำท่วมปอด) ก้อนส่วนใหญ่มักเป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติ ซึ่งต้องหาสาเหตุ
เมดิแอสตินั่มคือช่องที่อยู่ระหว่างปอดทั้งสองข้าง ภายในมีหัวใจ หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง หลอดลม หลอดอาหาร เส้นประสาท และต่อมไทมัส หากเห็นกว้างเกินไปก็อาจมีเนื้องอกอยู่ภายในเมดิแอสตินั่ม
- ขนาดของหัวใจ ปกติหัวใจส่วนที่กว้างที่สุดไม่ควรกว้างเกินครึ่งหนึ่งของความกว้างทรวงอกส่วนที่กว้างที่สุด รูปร่างของหัวใจยังบอกได้ว่ามีหัวใจห้องใดโต
- หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา อาจมีหินปูนเกาะในคนสูงอายุที่มีความดันโลหิตสูงมานาน ๆ หรือมีหลอดเลือดโป่ง (aneurysm) ซึ่งต้องรีบรักษาแม้ยังไม่มีอาการ
- กระบังลมและสิ่งผิดปกติใต้กระบังลม กระบังลมควรโค้งเหมือนชามคว่ำ หากแบนเหมือนจานคว่ำแสดงว่ามีถุงลมปอดโป่งดันกระบังลมจนแบน ใต้กระบังลมด้านขวาเป็นตับ ถ้าตับโตจะดันกระบังลมด้านขวาขึ้นสูง ใต้กระบังลมด้านซ้ายเป็นกระเพาะอาหาร ปกติจะเห็นลมในกระเพาะด้วย ถ้ามีแผลในกระเพาะทะลุ ลมจากกระเพาะจะลอยขึ้นบนไปอยู่เหนือตับและกระเพาะ ทำให้เห็นเส้นโค้งของกระบังลมชัดเจน กรณีนี้ต้องรีบผ่าตัดเย็บปิดแผล
- กระดูกรอบทรวงอก สามารถบอกได้ว่ามีกระดูกบางหรือไม่ หากมีรอยหักเก่าปัจจุบันติดดีแล้วหรือยัง
- เนื้อเยื่อรอบทรวงอก ไม่ควรมีลมแทรกอยู่ภายใน หากมีอาจเกิดจากซี่โครงหักทิ่มปอด หรือติดเชื้อของผิวหนังอย่างรุนแรง
เอกซเรย์ท่า PA อาจบอกตำแหน่งของกลีบปอดไม่ชัดเจน ถ้าพบความผิดปกติที่ต้องระบุตำแหน่งให้แน่ชัด แพทย์อาจส่งท่า lateral เพิ่มเติม
บรรณานุกรม
- มนะพล กุลปราณีต. "CXR interpretation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา rcpt.org. (21 กันยายน 2563).
- Robin Smithuis and Otto van Delden. "Basic CXR Interpretation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiology Assistant. (21 กันยายน 2563).
- Daniel Ward and Lewis Potter. "Chest X-ray (CXR) Interpretation:
the basics." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Geeky Medics. (21 กันยายน 2563).
- Ozlem Koksal. "How to read chest x-rays." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา iEM. (21 กันยายน 2563).