ระดับอะไมเลสในปัสสาวะ (Urine amylase)

อะไมเลสเป็นเอนไซม์ย่อยแป้งที่สร้างจากตับอ่อน (40%) และต่อมน้ำลาย (60%) ในภาวะที่มีตับอ่อนอักเสบระดับอะไมเลสในเลือดและในปัสสาวะจะสูงขึ้นเกือบจะพร้อมกัน แต่อะไมเลสในปัสสาวะจะลงช้ากว่า (ดูรูปขวามือ) จึงเหมาะที่จะใช้ติดตามผลการรักษา หรือแม้กระทั่งช่วยวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบในผู้ป่วยที่เจาะเลือดยากและอยู่ในที่ที่ไม่มีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

การตรวจระดับอะไมเลสในปัสสาวะมี 3 วิธี คือ

  1. เก็บปัสสาวะเป็นเวลา 12-24 ชั่วโมงในขวดขนาดใหญ่ แล้วค่อยส่งตรวจเมื่อครบเวลา ค่าปกติในเพศชาย 16-491 U/L, ในเพศหญิง 21-447 U/L การจะใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยต้องสูงกว่า 3 เท่าของค่าบน แต่ถ้าใช้ติดตามผลการรักษา ค่าควรค่อย ๆ ลดลงมาจนเป็นปกติใน 2 สัปดาห์
  2. เก็บปัสสาวะที่ถ่ายเพียงครั้งเดียว แล้วตรวจหา Urine Amylase (U/L) / Urine creatinine (mg%) ratio ซึ่งต้องตรวจทั้งอะไมเลสและครีเอตินีนในปัสสาวะ แล้วคำนวณหาค่า หากเกิน 570 ในช่วงที่มีอาการปวดท้องมากร้าวไปหลังภายในสองสัปดาห์ จะนึกถึงโรคตับอ่อนอักเสบมากขึ้น
  3. เก็บปัสสาวะที่ถ่ายเพียงครั้งเดียว แล้วตรวจหา Amylase creatinine clearance ratio (ACCR) ซึ่งต้องตรวจอะไมเลสในเลือด กับครีเอตินีนในเลือดและในปัสสาวะ พร้อม ๆ กัน โดย..
  4. ACCR ที่เกิน 4% ในช่วงที่มีอาการปวดท้องมากร้าวไปหลังภายในสองสัปดาห์ จะนึกถึงโรคตับอ่อนอักเสบมากขึ้น

ระดับอะไมเลสในปัสสาวะจะคล้ายกับในเลือด คืออาจสูงขึ้นในภาวะดังต่อไปนี้

  • ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ต่อมน้ำลายอักเสบ
  • ท่อตับอ่อนอุดตัน
  • ถุงน้ำที่ตับอ่อน
  • ถุงน้ำดีอักเสบ
  • เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • ดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • ลำไส้อุดตัน
  • ลำไส้ขาดเลือด
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • ตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • มะเร็งของตับอ่อน ปอด หรือรังไข่
  • หลังการผ่าตัดช่องท้อง
  • ภาวะ Diabetic ketoacidosis

บรรณานุกรม

  1. Mumtaz Din Wani, et al. 2017. "Clinical significance of Urinary Amylase in Acute Pancreatitis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Arch Surg Clin Res. 2017;1:021-031. (27 ตุลาคม 2563).
  2. Keita Terui, et al. 2013. "Urinary amylase / urinary creatinine ratio (uAm/uCr) - a less-invasive parameter for management of hyperamylasemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา BMC Pediatr. 2013;13:205. (27 ตุลาคม 2563).
  3. "Urine Part 17:- Urine amylase (Amylasuria), Amylase/Creatinine clearance ratio." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Labpedia.net. (27 ตุลาคม 2563).
  4. "Amylase - urine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา UCSF Health. (27 ตุลาคม 2563).
  5. Srideve Devaraj. 2020. "Amylase." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (26 ตุลาคม 2563).
  6. "Amylase." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. (27 ตุลาคม 2563).