ระดับ Cardiac troponins (cTnT, cTnI, hs-cTnT, hs-cTnI)

Cardiac troponins เป็นกลุ่มโปรตีนที่พันอยู่กับเส้นใย Actin ของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำหน้าที่ช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อ กลุ่มโปรตีนโทรโปนินประกอบด้วย

  • Cardiac troponin T (cTnT) ทำหน้าที่ยึดติดกับ tropomyosin ของกล้ามเนื้อ
  • Cardiac troponin C (cTnC) เป็นที่จับของแคลเซียมก่อนที่จะเคลื่อนเข้าเซลล์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของหดตัวของกล้ามเนื้อ
  • Cardiac troponin I (cTnI) ทำหน้าที่หยุดการหดตัวของกล้ามเนื้อ

ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute MI) cTnT และ cTnI จะสูงขึ้นภายใน 3-6 ชั่วโมง สูงสุดที่ 12-24 ชั่วโมง และกลับมาปกติใน 3-10 วัน (แล้วแต่ความรุนแรงของโรค) จึงมีการใช้ cTnT หรือ cTnI ช่วยวินิจฉัยภาวะดังกล่าว การตรวจโทรโปนินทำได้ 2 แบบ คือ

  1. Bedside qualitative troponins เป็นการเจาะเลือดปลายนิ้วแตะลงบนแผ่นทดสอบแล้วเอาเข้าเครื่องตรวจ ทราบผลใน 15 นาที ให้ผลเป็นบวกหรือลบ สามารถตรวจได้ทั้ง cTnT และ cTnI
  2. Quantitative troponins เป็นการตรวจระดับโทรโปนินในเลือด ทราบผลใน 2 ชั่วโมง บางสถาบันสามารถตรวจละเอียดถึงระดับ ng/L (high sensitivity troponins) ค่า cutoff ขึ้นกับแต่ละแล็บ

ระดับของโทรโปนินที่สูงเกินค่า cutoff อาจพบในโรคอื่นนอกจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย ดังนี้

  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis)
  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis)
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis)
  • การบาดเจ็บของทรวงอกถึงหัวใจ (cardiac trauma)
  • หลังผ่าตัดหัวใจหรือปลูกถ่ายหลอดเลือด, หลังปั๊มหรือช็อกหัวใจ
  • หัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (เช่น hypertrophic obstructive cardiomyopathy, Takotsubo cardiomyopathy)
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะ cardiac amyloidosis
  • ผนังเอออร์ตาฉีกขาด (aortic dissection)
  • หลอดเลือดปอดอุดตัน (pulmonary embolism)
  • ป่วยหนัก เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ไฟครอก
  • ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • ไตวายเรื้อรัง
  • ได้รับยาบางชนิด เช่น doxorubicin, trastuzumab, พิษงู

บรรณานุกรม

  1. Ashvarya Mangla. 2019. "Troponins." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (13 พฤศจิกายน 2563).
  2. John P. Cunha. "High-Sensitivity Troponin Test Normal and Elevated Ranges, and Guidelines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medicinenet. (13 พฤศจิกายน 2563).
  3. "Troponin-T." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (13 พฤศจิกายน 2563).
  4. "Cardiac marker." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (13 พฤศจิกายน 2563).
  5. "The role of troponin testing in primary care." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา bpac.org.nz. (13 พฤศจิกายน 2563).
  6. "Cardiac Marker – Part 3 – Troponins, Troponin-T, Troponin-I." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Labpedia.net. (13 พฤศจิกายน 2563).