เม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ (Urine white blood cells)

เม็ดเลือดขาวในปัสสาวะบ่งถึงการอักเสบในทางเดินปัสสาวะ (pyuria) ซึ่งได้แก่

สี่โรคแรกเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อย และไม่จำเป็นต้องตรวจพบเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ แต่ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการถ้ายังเป็นน้อย ๆ อยู่ ส่วนโรคอื่นที่เหลือจะไม่นึกถึงหากไม่พบเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนในปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะไม่ใช่อาการแสดงหลักของโรคเหล่านี้

การตรวจเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมี 2 วิธี คือ แบบดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (microscopic WBC) หากพบเม็ดเลือดขาวตั้งแต่ 6 ตัว/high power field ขึ้นไป ถือว่าผิดปกติ (ยกเว้นมีเซลล์ที่แสดงว่ามีการปนเปื้อนอยู่ในปัสสาวะด้วย เช่น เซลล์เยื่อบุช่องคลอด อสุจิ อุจจาระที่เหลว หรือโปรโตซัวทริโฆโมแนส กรณีเหล่านี้อาจต้องเก็บปัสสาวะตรวจใหม่) การดูด้วยกล้องจุลทรรศน์นี้อาจไม่เห็นเม็ดเลือดขาวถ้ามันแตกไปแล้ว เม็ดเลือดจะแตกง่ายในปัสสาวะที่เจือจาง (ความถ่วงจำเพาะต่ำ) เพราะผู้ป่วยดื่มน้ำเข้าไปมากเมื่อถูกเรียกเก็บปัสสาวะ

อีกวิธีหนึ่งคือใช้ dipstick Leukocyte ตรวจหาเอนไซม์ leukocyte esterase ที่อยู่ในแกรนูลของเม็ดเลือดขาว ซึ่งแม้เม็ดเลือดแตกไปแล้วเอนไซม์ก็ยังคงอยู่ แต่วิธีนี้ถ้าให้ผลบวกจะต้องยืนยันด้วยการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ทุกครั้งว่าไม่มีการปนเปื้อนจากเซลล์อื่น เพราะปัสสาวะที่มีการปนเปื้อนจะให้ผลบวกต่อ dipstick Leukocyte เช่นกัน

ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดผลบวกลวงของ urine leukocyte esterase ได้ เช่น สเตียรอยด์, cytoxan, methenamine, ampicillin, kanamycin, salicylate toxity

ผลลบลวงของ urine leukocyte esterase อาจพบได้ในกรณี..

  • ใช้ยาบางชนิด เช่น cephalexin [Keflex®], nitrofurantoin, tetracycline, gentamicin, vitamin C
  • ปัสสาวะมีความถ่วงจำเพาะสูง
  • ปัสสาวะที่มีกลูโคสรั่ว > 3000 mg/dL
  • ปัสสาวะที่มีโปรตีนรั่ว > 500 mg/dL
  • ปัสสาวะที่มีคีโตน
  • อ่านผลก่อนเวลา 2 นาที (เพราะการตรวจใช้ปฏิกิริยาเคมี 2 ขั้นตอน)

ถ้าไม่มีกล้องจุลทรรศน์ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสามารถวินิจฉัยได้เกือบ 100% ด้วยผลบวกของ urine leukocyte esterase ร่วมกับผลบวกของ urine nitrite

** หญิงที่กำลังมีรอบเดือนยังไม่ควรตรวจปัสสาวะ เพราะจะทำให้ค่าต่าง ๆ เป็นบวกลวง

บรรณานุกรม

  1. "Urinalysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ClinLab Navigator. (7 กันยายน 2563).
  2. "Leukocytes (esterase)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Biron. (7 กันยายน 2563).
  3. "Lab Test: Leukocyte Esterase (Urine) Level." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Evidence-based Medicine Consult. (7 กันยายน 2563).
  4. "Urine Leukocyte Esterase." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา familypractice NOTEBOOK. (7 กันยายน 2563).
  5. Jeff A. Simerville, et al. 2005. "Urinalysis: A Comprehensive Review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2005 Mar 15;71(6):1153-1162. (26 สิงหาคม 2563).
  6. "Urinalysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AACC (26 สิงหาคม 2563).