โปรตีนในปัสสาวะ (Urine protein)

การมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะบอกถึงภาวะไตเสื่อม แต่บางครั้งร่างกายเราก็ขับโปรตีนออกมาชั่วคราวในปริมาณเล็กน้อย (Trace ถึง +1) เวลาที่มีไข้ ออกกำลังมาก ขาดน้ำ เครียด ปัสสาวะมีเลือด/มูก/อสุจิปน หรือช่วงที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ พอหายจากภาวะดังกล่าวแล้วโปรตีนก็ไม่ออกมาอีก ดังนั้น การพบโปรตีนในปัสสาวะในช่วงเวลาเหล่านี้ก็ยังไม่ต้องตกใจ รอให้หายแล้วค่อยตรวจซ้ำอีกครั้ง

ในการวิเคราะห์ปัสสาวะเบื้องต้น (Urinalysis) จะตรวจโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะโดยวิธี dipstick (แผ่นตรวจวัด) ซึ่งใช้น้ำยา Bromophenol blue ที่วัดระดับโปรตีนชนิดอัลบูมินเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากโปรตีนที่ออกมาเป็นโกลบูลินหรือเบนซ์โจนส์โปรตีนก็อาจให้ผลลบลวงได้

นอกจากนั้นปริมาณอัลบูมินที่วัดได้จาก dipstick จะเริ่มต้นที่ 10-20 mg/dL ซึ่งสูงเกินไป ไม่สามารถใช้เป็นตัวคัดกรองภาวะไตเสื่อมจากโรคเบาหวานได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรตรวจ Urine albumin/creatinine ratio (ACR) แทนเป็นระยะ ๆ

ปัสสาวะที่ตั้งทิ้งไว้ 30 นาทียังมีฟองลอยอยู่มาก มักมีโปรตีนรั่วออกมาตั้งแต่ +2 ขึ้นไป ปัสสาวะที่มี pH เป็นด่างหรือมีสาร phenazopyridine (pyridium) อาจได้ผลบวกลวง และปัสสาวะที่มี pH เป็นกรดมากอาจได้ผลลบลวง

บรรณานุกรม

  1. "Proteinuria." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (30 สิงหาคม 2563).
  2. Michael F. Carroll, et al. 2000. "Proteinuria in Adults: A Diagnostic Approach." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2000 Sep 15;62(6):1333-1340. (30 สิงหาคม 2563).
  3. Jeff A. Simerville, et al. 2005. "Urinalysis: A Comprehensive Review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2005 Mar 15;71(6):1153-1162. (26 สิงหาคม 2563).
  4. "Urinalysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AACC (26 สิงหาคม 2563).

คำชี้แจงที่สำคัญ (Disclaimer): ผลการแปลต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากแพทย์ก่อนนำไปใช้วินิจฉัยหรือรักษา ผู้จัดทำมิได้ยืนยันในความถูกต้องของสูตรที่ได้เลือกมาหรือที่ได้ปรับให้เหมาะสม และผลการแปลก็ไม่สามารถทดแทนดุลยพินิจทางคลินิกของแพทย์ได้ ผู้จัดทำจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ใช้พึ่งพาผลการแปลหรือคำแนะนำในเอกสารนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน