ระดับโปรตีน CRP (C-reactive protein)

ชื่อ C-reactive protein มาจากการค้นพบสารที่ตอบสนองต่อ streptococcal capsular (C) polysaccharides แต่ต่อมาพบว่าสารชนิดนี้เป็นโปรตีนที่ตับสร้างเพื่อตอบสนองต่อภาวะอักเสบเฉียบพลันทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ การขาดเลือด มะเร็ง ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ฯลฯ

ทันทีที่มีการอักเสบ CRP จะออกมาในกระแสเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 6-10 ชั่วโมง ขึ้นสูงสุดใน 24-72 ชั่วโมง แล้วจะลดลงสู่ระดับปกติใน 1-2 สัปดาห์ การตรวจ CRP มีข้อดีกว่าการตรวจอัตราการตกของเม็ดเลือดแดง (ESR) คือ CRP จะให้ผลบวกก่อน ESR และกลับมาปกติเร็วกว่า อีกทั้งยังไม่เปลี่ยนแปลงในภาวะซีด, โกลบูลินในเลือดสูง, การตั้งครรภ์ และไม่มีความแตกต่างระหว่างชาย-หญิงเหมือน ESR แต่ข้อเสียคือไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล จึงไม่ใช้เป็นตัวคัดกรองการเจ็บป่วยเหมือน ESR

การวัดระดับ CRP มี 2 แบบ คือ CRP ทั่วไป และ hs-CRP (high sensitivity CRP หรือ ultra-sensitive CRP, us-CRP) ซึ่งสามารถวัดได้ที่ระดับต่ำกว่า 0.5 mg/L

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ CRP

  1. เมื่อ ESR ผิดปกติ
  2. คัดกรองภาวะ/โรคที่เกิดจากการอักเสบ (Inflammatory diseases), การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ (Tissue injury), การติดเชื้อ, การขาดเลือด, โรคทางภูมิคุ้มกัน, และมะเร็ง
  3. เป็นหนึ่งในเกณฑ์วินิจฉัยโรคไข้รูห์มาติก (Rheumatic fever)
  4. hs-CRP ใช้บอกความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่
  5. ประเมินภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ (แทน ESR ซึ่งมักสูงลอยในภาวะมีครรภ์)
  6. ติดตามผลการรักษาโรคที่มีการอักเสบต่าง ๆ

** ค่า CRP อาจสูงขึ้นเล็กน้อยในคนที่รับประทานยาคุมกำเนิด และในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และค่าอาจจะต่ำลงเล็กน้อยในผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากลุ่มเอนเสด

บรรณานุกรม

  1. "C-reactive protein test." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic (21 ตุลาคม 2563).
  2. "C-Reactive Protein (CRP) Test." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MedlinePlus (21 ตุลาคม 2563).
  3. Christophe Lelubre, et al. 2013. "Interpretation of C-Reactive Protein Concentrations in Critically Ill Patients." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Biomed Res Int. 2013 Oct 28. (21 ตุลาคม 2563).
  4. Robin Donovan. 2019. "C-Reactive Protein Test." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา HealthLine (21 ตุลาคม 2563).
  5. "C-reactive protein." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (21 ตุลาคม 2563).
  6. "C-Reactive Protein (CRP), High-sensitivity CRP (hs-CRP)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Labpedia.net (21 ตุลาคม 2563).

คำชี้แจงที่สำคัญ (Disclaimer): ผลการแปลต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากแพทย์ก่อนนำไปใช้วินิจฉัยหรือรักษา ผู้จัดทำมิได้ยืนยันในความถูกต้องของสูตรที่ได้เลือกมาหรือที่ได้ปรับให้เหมาะสม และผลการแปลก็ไม่สามารถทดแทนดุลยพินิจทางคลินิกของแพทย์ได้ ผู้จัดทำจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ใช้พึ่งพาผลการแปลหรือคำแนะนำในเอกสารนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน