เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ (Cardiac CT)
เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว (บีบและคลายตัว) ตลอดเวลา การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจจึงต้องใช้เครื่องความเร็วสูงที่สามารถถ่ายได้เป็นร้อย ๆ ภาพต่อการหมุนหนึ่งรอบ เพื่อนำมาประมวลและสร้างภาพหัวใจรวมทั้งหลอดเลือดหัวใจที่มีขนาดเล็กได้คมชัด การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
- วัดปริมาณแคลเซียมที่เกาะหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery calcium, CAC) ซึ่งจะบอกผลเป็นคะแนน ดังนี้
- คะแนน 0 - ไม่มีแคลเซียมเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ
- คะแนน 1-10 - มีแคลเซียมเกาะที่หลอดเลือดหัวใจน้อยมาก
- คะแนน 11-100 - มีแคลเซียมเกาะที่หลอดเลือดหัวใจไม่มาก
- คะแนน 101-400 - มีแคลเซียมเกาะที่หลอดเลือดหัวใจปานกลาง
- คะแนน > 400 - มีแคลเซียมเกาะที่หลอดเลือดหัวใจมาก
ยิ่งคะแนนสูงก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันสูงขึ้น
- ตรวจหาการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ (coronary CT angiography, coronary CTA) ขั้นตอนนี้ผู้ป่วยจะได้รับยา Isosorbide dinitrate พ่นใต้ลิ้น เพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจก่อนการตรวจ และได้รับการฉีดสารทึบรังสี (iodinated contrast) ผ่านทางหลอดเลือดดำบริเวณแขน หากหัวใจเต้นเร็วเกิน 60 ครั้ง/นาที หรือเต้นผิดจังหวะบ่อย แพทย์อาจให้ยาที่ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือควบคุมหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย
สารทึบรังสีนี้อาจทำให้ไตเสียการทำงานไปชั่วคราวได้ จึงไม่ควรทำในผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว และบางรายอาจแพ้ได้ หากีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
- ตรวจดูประสิทธิภาพการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial viability) เป็นการประมวลภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจทั้งก่อนและหลังฉีดสารทึบรังสี โดยสามารถบอกพื้นที่ที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย พื้นที่ที่กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดมาเลี้ยงน้อย และพื้นที่ที่กล้ามเนื้อหัวใจมีการอักเสบ (late subepicardial contrast enhancement)
ส่วนใหญ่จะได้ทำทั้ง 3 ส่วนพร้อมกันทีเดียวเลย แต่บางครั้งแพทย์อาจส่งตรวจเฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น
ข้อบ่งชี้ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ
- วินิจฉัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- สงสัยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- วินิจฉัยโรคที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
- วินิจฉัยโรคที่มีความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจ
- วินิจฉัยและตรวจดูลักษณะก้อนเนื้องอกในหัวใจ
- ติดตามผลการรักษาหลังใส่บอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ (percutaneous coronary intervention) หรือ ภายหลังการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ (bypass graft)
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (ถ้าอายุน้อยอาจตรวจแค่วัดปริมาณแคลเซียมที่เกาะหลอดเลือดหัวใจ)
ข้อห้ามในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- ไตวายเรื้อรัง/เฉียบพลันที่มีค่าครีเอตินิน (creatinine) ในเลือดมากกว่า 1.5 mg% ดังนั้นต้องตรวจเลือดดูการทำงานของไตก่อนทุกราย
- มีโรคหอบหืดรุนแรง
- มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 75 ครั้งต่อนาที
- มีประวัติการแพ้สารทึบรังสี
- หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
- รับประทานทานยาควบคุมจังหวะการเต้นหัวใจ (ตามที่แพทย์สั่ง) ก่อนทำการตรวจ
- ดื่มน้ำมาก ๆ 1 วันก่อนตรวจ
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 12 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
- เลือกสวมเสื้อผ้าที่ถอดท่อนบนง่ายในวันมาตรวจ เพราะต้องถอดเสื้อ สวมกาวน์แทนขณะเข้าเครื่องตรวจ
- ถอดฟันปลอม เครื่องประดับ แว่นตา นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม กระเป๋าสตางค์ ฝากญาติไว้
ขั้นตอนการตรวจ
เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่านอนบนเตียงตรวจ หลังแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม พยาบาลจะเริ่มแทงเส้นเลือดที่แขนเพื่อเตรียมฉีดยา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้กลั้นหายใจเพื่อสแกนให้ได้ภาพที่คมชัด โดยทั่วไปครั้งละไม่เกิน 12 วินาที เมื่อสแกนปริมาณแคลเซียมที่เกาะหลอดเลือดแดงหัวใจเสร็จ เจ้าหน้าที่จะพ่นยาใต้ลิ้นและฉีดสารทึบรังสี จากนั้นจะสแกนซ้ำเพื่อตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ การตรวจใช้เวลารวมประมาณ 15-60 นาที ขึ้นกับอัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วย ขณะทำการตรวจถ้ามีปัญหาอะไรผู้ป่วยสามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้ทันที เพราะมีไมโครโฟนติดอยู่ที่ตัวเครื่อง
หลังการตรวจ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นหรือนอนในโรงพยาบาล ยกเว้นเป็นผู้ป่วยในอยู่ก่อน
บรรณานุกรม
- "Cardiac CT." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NYU Health. (23 พฤศจิกายน 2563).
- Andrew Murphy, et al. "Cardiac CT." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiopaedia. (23 พฤศจิกายน 2563).
- "Cardiac CT for Calcium Scoring." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา RadiologyInfo.Org. (23 พฤศจิกายน 2563).
- "CT coronary angiogram." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic. (23 พฤศจิกายน 2563).
- Rozemarijn Vliegenthart, et al. 2012. "CT of Coronary Heart Disease: Part 1, CT of Myocardial Infarction, Ischemia, and Viability." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am J of Roentgenology. 2012;198: 531-547. (23 พฤศจิกายน 2563).
- "เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. (23 พฤศจิกายน 2563).
- "การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (23 พฤศจิกายน 2563).