กรด-ด่างของปัสสาวะ (Urine pH)

กรด-ด่างของปัสสาวะบอกถึงความสามารถของไตในการรักษาสมดุลกรดด่างในร่างกาย ในระหว่างวันที่เรารับประทานอาหาร กระเพาะอาหารต้องหลั่งกรดไฮโรคลอริก (HCl) มาย่อยอาหาร ท่อไตจะขับไฮโดรเจนไอออน (H+) ออกน้อยลง ปัสสาวะจึงเป็นด่างเล็กน้อย (โดยเฉพาะช่วงหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง) ในตอนกลางคืน ท่อไตจะทำหน้าที่กำจัด H+ ที่เกิดจากเมตาบอลิซึมของร่างกายทิ้งออกทางปัสสาวะ ปัสสาวะหลังตื่นนอนตอนเช้าจึงมีความเป็นกรดสูงสุด

ค่า pH ในปัสสาวะจึงมีช่วงกว้างตั้งแต่ 4.6-8.0 แต่ที่เหมาะสมในช่วงกลางวันคือ pH 6.5-7.5 และตอนเช้าหลังตื่นนอนคือ pH 5.0-6.0

ปัสสาวะเป็นด่างมากไป (Urine pH > 7.5)

ธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมจะรวมตัวกับฟอสเฟตได้ง่ายในปัสสาวะที่เป็นด่าง ทำให้เกิดนิ่วชนิดแคลเซียมฟอสเฟต แคลเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมฟอสเฟต

สาเหตุที่ปัสสาวะเป็นด่างมากไป

  1. มีการติดเชื้อแบคทีเรีย Proteus หรือ Pseudomonas ในทางเดินปัสสาวะ
  2. อาเจียนมาก หรือต่อสาย NG suction
  3. ไตวาย
  4. โรคไตชนิด Renal tubular acidosis (มักมีโพแทสเซียมในเลือดต่ำด้วย)
  5. มีภาวะ Respiratory alkalosis จากการหายใจเร็วเกินไป (hyperventilation)
  6. ใช้ยาบางชนิด เช่น Streptomycin, Neomycin, Kanamycin, NaHCO3, K-citrate, Acetazolamide
  7. หลังกินอาหารมังสวิรัติ
  8. ยืนเป็นเวลานาน

ในภาวะที่เป็นพิษจากยาแอสไพริน ต้องทำให้ปัสสาวะเป็นด่างเพื่อเร่งการขับยาออกทางปัสสาวะ

ปัสสาวะเป็นกรดมากไป (Urine pH < 5.0)

ธาตุบางชนิดจะตกผลึกหรือรวมตัวกันเป็นนิ่วที่ไต ในปัสสาวะที่เป็นกรด เช่น ยูเรต ซิสตีน แคลเซียมออกซาเลต ผลึกซัลโฟนาไมด์ (จากยาซัลฟา)

สาเหตุที่ปัสสาวะเป็นกรดมากไป

  1. ปัสสาวะครั้งแรกหลังตื่นนอนตอนเช้า
  2. ภาวะที่ดื่มน้ำน้อยจนปัสสาวะเข้มข้นมาก
  3. กินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มาก
  4. กินวิตามินซีเสริมอาหารมากเกินไป
  5. มีไข้
  6. มีการติดเชื้อแบคทีเรีย E. coli ในทางเดินปัสสาวะ
  7. มีภาวะกรดในเลือด เช่น DKA, ไตวาย, ท้องเสีย, อดอาหาร, หายใจช้าจนคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง
  8. มีวัณโรคไต
  9. ใช้ยาบางชนิด เช่น NH4Cl, Mandelic acid

บรรณานุกรม

  1. "Urine Part 6:- Urine pH (pH Significance in Urine)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Labpedia.net. (30 สิงหาคม 2563).
  2. "Urine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา pH Balance in the Human Body. (30 สิงหาคม 2563).
  3. Jeff A. Simerville, et al. 2005. "Urinalysis: A Comprehensive Review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2005 Mar 15;71(6):1153-1162. (26 สิงหาคม 2563).
  4. "Urinalysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AACC (26 สิงหาคม 2563).
  5. "Urine Crystals formation based on Urine pH." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา medical-labs.net (30 สิงหาคม 2563).