สีและความใสของปัสสาวะ (Urine color & clarity)

แล็บบางแห่งไม่มีรายงานสีและความใสของปัสสาวะ แต่ท่านสังเกตได้ด้วยตัวเอง

ปกติเม็ดเลือดแดงที่สิ้นอายุขัยจะแตกสลาย สาร Heme ในเม็ดเลือดจะถูกม้ามเปลี่ยนให้เป็น biliverdin และ unconjugated bilirubin ตามลำดับ เมื่อเข้าตับ unconjugated bilirubin ซึ่งไม่ละลายน้ำจะถูกเปลี่ยนให้เป็นน้ำดีที่ละลายน้ำ (conjugated bilirubin) ตับเก็บน้ำดีไว้ในถุงน้ำดี และขับลงทางเดินอาหารเมื่อเรารับประทานไขมัน น้ำดีส่วนหนึ่งพากรดไขมันที่แตกตัวดูดซึมกลับเข้าร่างกาย น้ำดีส่วนหนึ่งถูกขับทิ้งทางอุจจาระในรูปของ stercobilinogen และน้ำดีอีกส่วนหนึ่งถูกแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนเป็น urobilinogen แล้วดูดซึมกลับเข้ากระแสเลือด-ผ่านไต-ถูกกรองออก แล้วแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะก็เปลี่ยน urobilinogen ซึ่งไม่มีสีให้เป็น urobilin ซึ่งมีสีเหลือง ปัสสาวะที่ออกมาใหม่ ๆ จึงมีสีเหลืองจาง ๆ แต่เมื่อตั้งทิ้งไว้ สีเหลืองจะชัดขึ้น

ความใส (Clarity)

ปัสสาวะที่ปกติต้องใส (clear) หรือถ้าดื่มน้ำน้อยก็อาจขุ่นได้เล็กน้อย (slightly hazy) แต่ยังมองทะลุผ่านได้ ปัสสาวะที่ขุ่น (cloudy, turbid) อาจเป็นจาก

  • มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (ในรายงานจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น อาจพบแบคทีเรียหรือไนเตรตด้วย)
  • มีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ (ในรายงานจะมีจำนวนเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น) เลือดมาจากนิ่ว เนื้องอก การบาดเจ็บ หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก
  • มีโรคไต ทำให้โปรตีน ไขมัน หรือผลึกท่อไต (renal cast) ออกมาในปัสสาวะ
  • ปัสสาวะที่ตั้งทิ้งไว้นาน หรือแช่ตู้เย็นไว้เกิน 1 ชั่วโมง
  • มีการปนเปื้อนของสารอื่น เช่น อุจจาระ แป้งหรือครีมที่ทารอบอวัยวะเพศ น้ำอสุจิ มูกจากช่องคลอด
  • เพิ่งทำการตรวจเอกซเรย์แบบที่มีการฉีดสารทึบรังสี (radio contrast media)
  • ปัสสาวะเป็นด่างมากจนธาตุฟอสเฟตที่ออกมากับปัสสาวะตกตะกอน
  • ปัสสาวะเป็นกรดมากจนเกลือยูเรตที่ออกมากับปัสสาวะตกตะกอน

ปัสสาวะที่เป็นฟอง ส่วนใหญ่เกิดจากการไหลออกมาอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก (เหมือนการเปิดน้ำประปาแรง ๆ แล้วรองน้ำใส่แก้ว) กรณีนี้พอตั้งทิ้งไว้ฟองจะหายไป สาเหตุอื่นที่ต้องพิจารณา คือ

  • มีโปรตีนรั่วออกมาทางปัสสาวะมาก (พบในโรคไตอักเสบและไตวาย)
  • มีไขมันหรือน้ำดีออกมาทางปัสสาวะ (พบในโรคตับและท่อน้ำดีอุดตัน) กรณีนี้ปัสสาวะจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อเขย่าจะเกิดฟอง
  • มีการหลั่งอสุจิย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ (retrograde ejaculation)
  • ใช้ยาบางชนิด เช่น Phenazopyridine
  • มีโรคเรื้อรังของทางเดินอาหารจนเกิดทางเชื่อมต่อระหว่างทางเดินอาหารกับทางเดินปัสสาวะ

สังเกตว่าไม่มีสาเหตุของน้ำตาลออกมาในปัสสาวะอย่างที่คนชอบทานของหวานแล้วกลัวว่าจะเป็นเบาหวานคิดกัน

สี (Color)

เฉดสีเหลือง เป็นเฉดสีปกติของปัสสาวะคนเรา

  1. สีเหลืองอ่อน (straw, pale yellow) เป็นสีของปัสสาวะเมื่อออกมาใหม่ ๆ หรือถ้าตั้งทิ้งไว้ก็ยังเป็นสีนี้แสดงว่าร่างกายขับน้ำออกมามาก ซึ่งพบได้ใน
    • คนที่ดื่มน้ำมาก หรือเพิ่งดื่มน้ำเข้าไป
    • ได้รับยาขับปัสสาวะ หรือสารที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น กาแฟ ชา แอลกอฮอล์
    • โรคเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูง
    • โรคไตชนิด chronic interstitial nephritis
    • โรคเบาจืด (ปริมาณปัสสาวะทั้งวันจะมากกว่า 3 ลิตร)
  2. สีเหลือง (yellow) เป็นสีของปัสสาวะปกติเมื่อตั้งทิ้งไวสักพัก
  3. สีเหลืองส้ม (amber, orange) เป็นสีของปัสสาวะปกติหลังตื่นนอนตอนเช้า ถ้าระหว่างวันยังมีสีนี้แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ หรืออาจพบในภาวะเหล่านี้
    • กินอาหารที่มีเบตาแคโรทีนมาก เช่น มะละกอ แครอท ฟักทอง
    • ได้รับยาบางชนิด เช่น Pyridium, Nitrofurantoin, Levodopa, Chloroquine, Primaquine, Rifampicin, Sulfasalazine, Doxorubicin, Phenothiazine, วิตามินบี 2 (riboflavin), ฯลฯ
    • มีท่อน้ำดีอุดตัน (ต้องมีตาขาวเป็นสีเหลืองด้วย)
  4. สีเหลืองน้ำตาล (dark yellow, brown) เป็นสีของปัสสาวะขณะที่ร่างกายขาดน้ำมาก หรือมีความผิดปกติดังข้อ 3

เฉดสีแดง เป็นเฉดสีผิดปกติ เกิดจากมีเลือดมาปนมาก-น้อยต่างกัน ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยภาวะเหล่านี้

  • ปัสสาวะที่มีเลือดประจำเดือนเข้าไปปน
  • ใช้ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ และยาเกินขนาด
  • ท่อปัสสาวะเป็นแผลหลังใส่สายสวนปัสสาวะ
  • มีไตอักเสบ หรือได้รับบาดเจ็บ หรือมีนิ่ว หรือมีเนื้องอกที่ไต
  • ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกในกระแสเลือด (จะซีดลงมาก)
  • Melanogen จาก metastatic melanoma
  • โรคพอร์ไฟเรีย
  • โรค Alkaptonuria
  • รับประทานอาหารหรือยาบางชนิด เช่น บีทรูต, รูบาร์บ, บลูเบอรี่, Casara, Senna, Metronidazole, Quinine, ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กผสม, ฯลฯ
  • พิษของสาร Phenol

เฉดสีเขียวฟ้า เป็นเฉดสีผิดปกติ เกิดจาก

  • การติดเชื้อ Pseudomonas ในทางเดินปัสสาวะ
  • ใช้ยาบางชนิด เช่น Triamterene, Amitriptyline, Methylene blue, Mitoxantrone, Chlorophyll, ฯลฯ

บรรณานุกรม

  1. "Urinalysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AACC (26 สิงหาคม 2563).
  2. Edgar V Lerma. 2015. "Urinalysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (26 สิงหาคม 2563).
  3. Jeff A. Simerville, et al. 2005. "Urinalysis: A Comprehensive Review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2005 Mar 15;71(6):1153-1162. (26 สิงหาคม 2563).
  4. "Urinalysis: how to interpret results." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NursingTimes.net. (26 สิงหาคม 2563).