คีโตนในเลือด (Blood ketone)
เมื่อร่างกายใช้น้ำตาลจากกลูโคสไม่ได้ เช่น อดอาหารนาน หรือขาดอินซูลินพาน้ำตาลเข้าไปใช้ในเซลล์ ร่างกายจะสันดาปพลังงานจากไขมันแทน การสันดาปนี้จะได้สารตัวกลางคือ acetone, acetoacetic acid, และ 3-β-hydroxybutyric acid ซึ่งรวมเรียกว่า "คีโตน" ร่างกายขับคีโตนออกทางปัสสาวะและลมหายใจได้ในปริมาณจำกัด หากการสันดาปนี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือไม่สมบูรณ์ เลือดจะเป็นกรดมากขึ้นจากการสะสมของคีโตนเหล่านี้ เกิดภาวะที่เรียกว่า ketoacidosis ซึ่งเป็นอันตรายมากหากไม่รีบรักษา
การคัดกรองคีโตนในร่างกายนิยมตรวจจากปัสสาวะหรือจากลมหายใจ (breath acetone) หากให้ผลบวกจึงค่อยตรวจคีโตนในเลือด ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งจากเลือดปลายนิ้วหรือเลือดจากหลอดเลือดดำ ผลตรวจอาจเป็น บวก/ลบ หรือเป็นปริมาณความเข้มข้น ขึ้นกับเครื่องอ่าน ปกติคีโตนในเลือดควรเป็นลบ หรือมีปริมาณ < 0.6 mmol/L คีโตนที่เกินนี้จะนึกถึงภาวะ
- Diabetic ketoacidosis ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอินซูลินในร่างกายไม่เพียงพอใช้งาน รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาลดน้ำชนิด SGLT-2 inhibitors เพราะยากลุ่มนี้มีอุบัติการณ์ของการเกิด euglycemic DKA มากกว่ากลุ่มอื่น
- Alcoholic ketoacidosis ในผู้ป่วยติดเหล้า แต่หยุดดื่มกระทันหัน
- Salicylate overdose ในผู้ที่สงสัยว่าจะรับประทานยาแอสไพรินเกินขนาด
- Isopropyl alcohol ingestion ในผู้ที่สงสัยว่าจะดื่มน้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ที่ใช้กับวัสดุภายนอกเข้าไป
ระดับความรุนแรงของคีโตนในเลือด
ระดับ | แปลผล | คำแนะนำ |
0.6-1.5 mmol/L (3.49-8.71 mg/dL) | ร่างกายขาดน้ำหรือขาดอาหารชั่วคราว | ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อกำจัดคีโตนออกทางปัสสาวะ รับประทานอาหารให้เพียงพอ |
1.6-3.0 mmol/L (8.71-17.43 mg/dL) | ดื่มสุรามากแล้วหยุดดื่มกะทันหัน หรือถ้าเป็นเบาหวานแสดงว่าน้ำตาลเริ่มคุมไม่ดี | ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อกำจัดคีโตนออกทางปัสสาวะ ถ้าเป็นเบาหวานก็ต้องควบคุมน้ำตาลให้ดีกว่านี้ ตรวจระดับคีโตนในเลือดซ้ำอีก 2-4 ชั่วโมง ถ้าสูงขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ |
>3.0 mmol/L (> 17.43 mg/dL) | สงสัยมีภาวะ 4 ข้อข้างต้น | ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในเลือด ตรวจ arterial blood gas เพื่อดู pH และแก้ไขภาวะ ketosis ก่อนที่จะสายเกินไป |
เกณฑ์วินิจฉัยภาวะ diabetic ketoacidosis คือต้องมีครบ 3 ข้อข้างล่างนี้
- คีโตนในเลือด > 3 mmol/L
- pH ในเลือด < 7.3 และ/หรือ HCO3 < 15 mmol/L
- น้ำตาลในเลือด > 15 mmol/L (หรือ > 270 mg/dL) เว้นแต่ใช้ยากลุ่ม SGLT-2 inhibitors รักษาเบาหวานอยู่ เพราะยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิด ketosis โดยที่น้ำตาลในเลือดไม่สูงได้
บรรณานุกรม
- Bishnu Prasad Devkota. 2015. "Ketones." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (3 กันยายน 2563).
- Ketan Dhatariya. 2016. "Blood Ketones: Measurement, Interpretation, Limitations, and Utility in the Management of Diabetic Ketoacidosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Rev Diabet Stud. 2016;13(4):217–225. (30 มกราคม 2564).
- "Ketone." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. (30 มกราคม 2564).
- Sarah Brewster, et al. 2017. "Urine versus blood ketones." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Practical Diabetes Vol. 34 No. 1. (30 มกราคม 2564).
- Gary Gilles. 2019. "How to Read Blood Ketone Test Results." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา verywellhealth.com. (30 มกราคม 2564).
- Brian Krans. 2018. "Serum Ketones Test: What Does It Mean?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Healthlines. (30 มกราคม 2564).