เลือดในอุจจาระ (Fecal blood)

เลือดในอุจจาระสามารถตรวจได้ 2 วิธี คือ

  1. ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (stool examination) เม็ดเลือดแดงที่พบบ่งว่ามีเลือดออกจากส่วนใดส่วนหนึ่งตั้งแต่ลำไส้เล็กจนถึงทวารหนัก (เม็ดเลือดจากกระเพาะอาหารมักจะแตกไปแล้ว)
  2. ทดสอบปฏิกิริยาเคมีหาสารที่อยู่ในเลือด (fecal occult blood test, FOBT, stool occult blood) หากให้ผลบวกแสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารจริง ซึ่งอาจเป็นแผลที่กระเพาะอาหาร ติ่งเนื้อที่กระเพาะหรือลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่ มีพยาธิในทางเดินอาหาร มีลำไส้อักเสบจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ เลือดจากริดสีดวงทวาร หรือเป็นจากยาที่ระคายกระเพาะ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด สเตียรอยด์ แอสไพริน กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด ยารักษาโรคเกาท์ ฯลฯ
  3. ผลบวกลวงของ FOBT พบได้ถ้า..

    • รับประทานเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไส้กรอก แฮม ไส้อั่ว กุนเชียง ก่อนตรวจจึงต้องงดอาหารพวกนี้อย่างน้อย 4 วัน
    • รับประทานผักผลไม้ที่มีฤทธิ์ peroxidase มาก เช่น กล้วย แคนตาลูป แอบเปิ้ล หัวไช้เท้า บร็อคโคลี่ หัวผักกาด เห็ดทุกชนิด ก่อนตรวจควรงดอาหารพวกนี้ 1 วัน
    • รับประทานวิตามินซีหรือธาตุเหล็กเป็นประจำ ก่อนตรวจจึงต้องงดยาเหล่านี้อย่างน้อย 10 วัน
    • มีการปนเปื้อนเลือดจากรอบเดือน แผลที่ทวารหนักถ้าอุจจาระแข็ง เลือดจากริดสีดวงทวาร เลือดจากปัสสาวะ

การมีเลือดในอุจจาระร่วมกับมีโลหิตจาง (หรือปริมาณฮีโมโกลบินลดลงกว่าเดิม ≥ 1.5 g/dL) ถึงจะสงสัยว่าอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารจนร่างกายสร้างเม็ดเลือดชดเชยไม่ทัน กรณีนี้หากยังไม่เคยส่องกล้องทางเดินอาหาร แพทย์จะทำการนัดส่องกล้องต่อไป หากไม่มีโลหิตจางหรือฮีโมโกลบินลดลง การพบเลือดในอุจจาระอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น แพทย์อาจนัดตรวจติดตาม หรืออาจส่องให้ถ้ามีอาการหรือมีประวัติมะเร็งทางเดินอาหารในครอบครัว

** การพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในอุจจาระขณะที่ท้องเสียแสดงว่ามีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร กรณีนี้แพทย์จะเก็บอุจจาระไปเพาะเชื้อและรักษาโรคติดเชื้อก่อน

บรรณานุกรม

  1. "Stool Examination:- Part 1 – Stool Analysis , Complete Stool studies, Example of ova and parasite." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Labpedia.net. (12 กันยายน 2563).
  2. "Fecal occult blood test." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic. (13 กันยายน 2563).
  3. "Stool test." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (12 กันยายน 2563).
  4. Erhun Kasirga. 2019. "The importance of stool tests in diagnosis and follow-up of gastrointestinal disorders in children." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Turk Pediatri Ars. 2019; 54(3): 141–148. (12 กันยายน 2563).
  5. "Stool Test Options: Which stool test is right for you?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา verywellhealth.com. (12 กันยายน 2563).