การฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ
(Coronary angiography, Cardiac catheterization)

การฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจเป็นการดูโครงสร้างภายในของหลอดเลือดแดงโคโรนารี 2 เส้น ซึ่งแยกออกจากโคนของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา ลงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ แขนงของหลอดเลือดแดงโคโรนารีได้แก่

  1. โคโรนารีเส้นขวา (Right coronary artery, RCA) เลี้ยงหัวใจห้องล่างขวา, ห้องบนขวา, SA node, AV node, และมีแขนงอ้อมไปด้านหลัง (Posterior Descending Artery, PDA) เลี้ยงผนังด้านล่างของหัวใจห้องล่างซ้าย โคโรนารีเส้นขวามีความสำคัญต่อการทำงานของหัวใจเพียงหนึ่งในสาม
  2. โคโรนารีเส้นซ้าย (Left coronary artery, LCA) เป็นเส้นเลือดหลักที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย, ห้องบนซ้าย, SA node, AV node โคโรนารีเส้นซ้ายช่วงต้น (Left main coronary artery) จะซ่อนอยู่หลัง Pulmonary artery (ดูรูป) เมื่อโผล่ออกมาจะแตกแขนงเป็น Left circumflex (LCx) กับ Left anterior descending artery (LAD) โคโรนารีเส้นซ้ายมีความสำคัญต่อการทำงานของหัวใจมาก หากอุดตันที่ Left main โอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตมีสูง

การฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจยังสามารถวัดความดันภายในหัวใจห้องล่างซ้าย ห้องบนซ้าย และดูความผิดปกติของหลอดเลือดแดงเอออร์ตาได้ด้วย

ข้อบ่งชี้ในการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ

  1. มีอาการแน่นหน้าอกหรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจสงสัยว่าจะมีหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีข้อห้ามในการตรวจกล้ามเนื้อหัวใจขณะออกกำลัง
  2. พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง (Exercise stress test)
  3. มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute MI) มักทำพร้อมกับการใส่บอลลูนหรือสเต๊นขยายเส้นเลือดหัวใจ (PCI)
  4. สงสัยความผิดปกติของหลอดเลือดหลังการบาดเจ็บที่ทรวงอก
  5. เพื่อเตรียมการผ่าตัดหัวใจทุกชนิด
  6. ติดตามผลการรักษาหลังใส่บอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ (percutaneous coronary intervention) หรือ ภายหลังการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ (bypass graft)
  7. ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรังที่รักษาด้วยยา
  8. มีโรคอื่นที่ส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เช่น thoracic aortic dissection, thoracic aortic aneurysm, hypertrophic cardiomyopathy, Kawasaki disease ที่มี coronary artery aneurysms จาก echocardiography

ข้อห้ามในการตรวจถ้าไม่จำเป็น (Relative contraindications)

ไม่มีข้อห้ามเด็ดขาดในการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ มีแต่ภาวะที่ไม่ควรทำหากไม่จำเป็น เช่น

  1. ไตวายเรื้อรัง/เฉียบพลัน (ต้องตรวจเลือดดูการทำงานของไตก่อนทุกราย)
  2. มีประวัติการแพ้สารทึบรังสี
  3. มีโรคหอบหืดรุนแรง
  4. หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
  5. มีเลือดออกง่าย
  6. มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่ร่างกายพยุงไว้ไม่ได้แล้ว (decompensated congestive heart failure)
  7. มีความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต
  8. มีอัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก
  9. มีหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ควบคุมยาก
  10. มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  11. มีการติดเชื้อที่ยังคุกรุ่นอยู่ (active infection)
  12. ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความร่วมมือขณะตรวจ

ขั้นตอนการตรวจ

ในการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบหรือที่ข้อพับแขน แล้วสอดสายเข้าไปจนถึงโคนของเอออร์ตา ระหว่างนี้จะเปิดเครื่องเอกซเรย์บันทึกภาพเคลื่อนไหวเพื่อให้เห็นตำแหน่งของสายสวน จากนั้นจะฉีดสารทึบรังสีเข้าตรงรูเปิดของโคโรนารีเส้นซ้ายและขวา เมื่อสารไหลเข้าไปในเส้นเลือดโคโรนารีก็จะเห็นเงาภายในหลอดเลือด แพทย์และเจ้าหน้าที่จะช่วยกันเอียงมุมของเครื่องเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นแขนงทุกเส้นของโคโรนารี แพทย์จะแยงสายสวนที่มีอัลตราซาวด์ติดไว้ที่ปลาย (IVUS) คอยวัด fractional flow reserve (FFR) เพื่อประเมินความรุนแรงของเส้นเลือดที่ตีบ หากการตีบตันพอจะถ่างขยายได้ แพทย์ก็จะทำการถ่างให้ เรียกว่าทำ Percutaneous coronary intervention (PCI) หากทำไม่ได้ก็จะหยุด แล้วปรึกษาศัลยแพทย์หลอดเลือดเพื่อผ่าตัดต่อเส้นเลือดแทน

ในระหว่างที่มีการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวอุ่นขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย บางคนอาจรู้สึกอยากอาเจียนหรืออยากไอ หากมีอาการมากสามารถบอกแพทย์ได้ ระยะเวลาในการตรวจทั้งสิ้นประมาณ 30-60 นาที

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. หยุดยาแอสไพริน และยาต้านการแข็งตัวของเลือดทุกชนิด 7-10 วันก่อนตรวจ
  2. เข้าพักในโรงพยาบาล 1 วันก่อนวันตรวจ เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนทำหัตถการเสี่ยง
  3. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
  4. เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นเสื้อกาวน์ของคนไข้ก่อนเข้าเครื่องตรวจ
  5. ถอดฟันปลอม เครื่องประดับ แว่นตา นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม กระเป๋าสตางค์ ฝากญาติไว้
  6. ที่ห้อง Cath. Lab. พยาบาลจะใส่สายน้ำเกลือและติดขั้วสื่อไฟฟ้าที่หน้าอกและขา
  7. แพทย์จะฉีดยาชาให้บริเวณที่จะแทงเข็มและสอดสายสวน

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ

พยาบาลจะพาผู้ป่วยกลับตึกนอนเพื่อสังเกตภาวะแทรกซ้อนหลังทำหัตถการเสี่ยง หากมีอาการชา เย็น ซีด หรือมีเลือดซึมตรงตำแหน่งที่สอดสายต้องรีบแจ้งพยาบาลทันที ถ้าใส่สายสวนที่แขน ห้ามงอข้อมือและข้อศอก 24 ชั่วโมง ถ้าใส่ที่ขาหนีบ ห้ามงอเข่าประมาณ 6 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการผิดปกติภายใน 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้

ที่บ้าน ควรพักผ่อนอยู่แต่ในบ้านประมาณ 24 ชั่วโมง ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อกำจัดสารทึบรังสีออกไป รับประทานอาหารตามปกติ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง (แพทย์อาจให้หยุดยาต้านการแข็งตัวของเลือดต่อไปอีก 2-3 วัน) หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงดึง ผลัก ดัน หรือยกของหนัก รวมถึงการนั่งคุกเข่า (กรณีทำที่ขาหนีบ) สังเกตภาวะแทรกซ้อนอีก 2-3 เรื่องที่อาจเกิดขึ้น คือการติดเชื้อ (มีไข้ บวม แดง กดเจ็บตรงตำแหน่งที่สอดสาย), การมีลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดสมอง ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต (พบเพียง 0.2%), และภาวะหัวใจขาดเลือดจากการที่เส้นเลือดโคโรนารีอุดตันซ้ำ (แน่นอก ใจหวิว เหนื่อย) หากมีอย่างใดอย่างหนึ่งต้องรีบกลับไปพบแพทย์

บรรณานุกรม

  1. "ACC/AHA Guidelines for Coronary Angiography: Executive Summary and Recommendations." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ACC/AHA Practice Guidelines. (5 ธันวาคม 2563).
  2. อ.นพ.ภาณุเมศ ศรีสว่าง. "การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiography)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (5 ธันวาคม 2563).
  3. "Coronary angiogram." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic. (5 ธันวาคม 2563).
  4. "Cardiac Catheterization & Coronary Angioplasty and Stent (Interventional Procedures)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cleveland Clinic. (5 ธันวาคม 2563).
  5. C. Michael Gibson. "Coronary angiography contraindications." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikidoc. (5 ธันวาคม 2563).
  6. Jae-Hwan Lee. "Interpretation of Coronary Angiogram." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Chungnam National University, Korea. (5 ธันวาคม 2563).
  7. David Shavelle. "Basic Coronary Angiography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Univ Southern California. (5 ธันวาคม 2563).
  8. Abhijoy Chakladar, et al. 2017. "Coronary Artery Angiography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา wfsahq.org. (5 ธันวาคม 2563).
  9. G Karthikeyan. "Reading a coronary angiogram." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา India Institute of Medical Sciences, India. (5 ธันวาคม 2563).
  10. Robert A Kubicka and Claire Smith. "How to interpret coronary arteriograms." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา The Radiological Society of North America. (5 ธันวาคม 2563).