แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านม
(Mammogram & breast ultrasound)
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทำได้ 3 วิธี คือ
- การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ดู วิธีตรวจ
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม
- การตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่ การทำแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์เต้านม
แมมโมแกรมเป็นการตรวจภาพรังสีเต้านมโดยละเอียด สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านมซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของมะเร็งระยะแรก ใช้ได้ดีในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี เพราะเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก (รูป B) เนื้อเต้านมของหญิงวัยเจริญพันธุ์ยังเป็น fibroglandular เป็นส่วนใหญ่ (รูป D) ทำให้มองหินปูนขนาดเล็กยาก และในกรณีที่คลำพบก้อนที่เต้านมแล้ว แมมโมแกรมก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ต้องทำอัลตราซาวด์เต้านมแทน
มีการศึกษาแบบสุ่มโดยมีกลุ่มควบคุม (Randomized Control Trial) ระยะยาว 25 ปี ของประเทศแคนาดา พบว่า การตรวจแมมโมแกรมทุกปี ในผู้หญิงอายุ 40-59 ปี ไม่สามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านม แต่พบปัญหาการวินิจฉัยเกิน (over diagnosis) ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการตรวจติดตามและตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ ปีพ.ศ. 2555 สถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงแนะนำแนวทางคัดกรองมะเร็งเต้านมในหญิงไทย ดังนี้
- หญิงกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้
- มีญาติสายตรง (มารดา พี่สาว/น้องสาว ลูกสาว) เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
- ตนเองเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม (invasive cancer or ductal carcinoma in situ)
- เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณหน้าอก
- เคยตรวจชิ้นเนื้อเต้านมแล้วผลเป็น atypical ductal hyperplasia, lobular neoplasia
- รับประทานฮอร์โมนเสริมทดแทนวัยหมดประจำเดือนเป็นประจำเกินกว่า 5 ปี
ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง, ตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม อย่างน้อยทุก 3 ปี, ตรวจแมมโมแกรมทุก 2 ปี ในช่วงอายุ 35-40 ปี, ทุกปี ในช่วงอายุ 40-50 ปี, และทุก 1-2 ปี ในช่วงอายุ 50-69 ปี
- หญิงทั่วไปที่ไม่มีอาการ
ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง, ตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม ทุก 3 ปี, เมื่ออายุ 40-69 ปี ให้ตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม ทุกปี และตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
การรายงานผล
ผลแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมจะแบ่งเป็น 7 กลุ่ม คือ
- กลุ่ม 0 Incomplete คือ ทำไม่สำเร็จ แนะนำให้ตรวจซ้ำ
- กลุ่ม 1 Negative คือ ไม่พบความผิดปกติใดใด
- กลุ่ม 2 Benign คือ พบสิ่งที่บ่งว่าไม่ใช่เนื้อร้าย
- กลุ่ม 3 Probably benign คือ พบสิ่งที่น่าจะเป็นเนื้อไม่ร้าย ควรตรวจซ้ำอีก 6 เดือน
- กลุ่ม 4 Suspicious abnormality คือ พบสิ่งที่อาจจะเป็นมะเร็งได้ ควรตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ในกลุ่มนี้ยังแบ่งความน่าจะเป็นมะเร็งออกเป็น
- 4A คล้ายมะเร็ง 2-10%
- 4B คล้ายมะเร็ง 10-50%
- 4C คล้ายมะเร็ง 50-95%
- กลุ่ม 5 Highly suggestive of malignancy คือ พบสิ่งที่เหมือนจะเป็นมะเร็ง ควรตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอย่างยิ่ง
- กลุ่ม 6 Known biopsy-proven malignancy คือ กลุ่มที่ทราบอยู่แล้วว่าเป็นมะเร็ง แต่ส่งแมมโมแกรมเพื่อดูผลการรักษา
บรรณานุกรม
- "ข้อเสนอแนะการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. (23 กันยายน 2563).
- "Mammogram Interpretation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา familypractice NOTEBOOK. (23 กันยายน 2563).
- "Understanding Your Mammogram Report." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cancer.Org (23 กันยายน 2563).
- Harmien Zonderland and Robin Smithuis. "Bi-RADS for Mammography and Ultrasound 2013." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiology Assistant. (23 กันยายน 2563).