การส่องกล้องท่อน้ำดีและตับอ่อน
(Endoscopic Retrograde Cholangio Pancreatography, ERCP)

การส่องกล้องท่อน้ำดีและตับอ่อนปัจจุบันเป็นตรวจเพื่อช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคมากกว่าจะเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของท่อน้ำดีอุดตัน เพราะ ERCP มีความเสี่ยงมากกว่าการตรวจวินิจฉัยด้วยซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอช่องท้อง

ในการส่อง ERCP จะคล้ายกับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน แต่เมื่อกล้องเข้าไปถึงรูเปิดของท่อน้ำดีและท่อตับอ่อนแล้ว จะใส่สายเพื่อฉีดสารทึบแสงเข้าไปในท่อดังกล่าว แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ไว้ หากต้องทำหัตถการรักษาใดใดก็จะทำผ่านจอมอนิเตอร์ภาพเอกซเรย์

ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องท่อน้ำดีและตับอ่อนมีดังนี้

  1. วินิจฉัย...
    • สาเหตุของท่อน้ำดีอุดตันที่พบจากอัลตราซาวด์ และไม่สามารถหาสาเหตุได้จากการตรวจซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอช่องท้อง
  2. รักษา...
    • คล้องนิ่วหรือขบนิ่วออกจากท่อน้ำดี
    • ถ่างขยายหรือใส่ท่อระบายคาไว้ในท่อน้ำดีที่ตีบตัน
    • เปิดหูรูดของท่อตับอ่อน (sphincterotomy of sphincter of Oddi) ที่ตีบตัน
    • ปิดรูรั่วของท่อน้ำดี

ข้อห้ามในการทำ

  1. แพ้สาร iodinated contrast medium
  2. มีตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
  3. เพิ่งมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) หรือลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดที่ปอด (pulmonary embolism) มาภายใน 2 สัปดาห์
  4. ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่อาจทนต่อการส่องไม่ได้

สภาพที่ไม่ควรทำถ้าไม่จำเป็น

  1. มีเม็ดเลือดขาวต่ำมาก เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลังทำ
  2. มีภาวะที่เลือดออกง่าย (เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ)

การเตรียมตัวก่อนส่อง ERCP

  1. งดยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด แอสไพริน 7 วันก่อนการส่องกล้อง
  2. งดน้ำและอาหาร 6 - 8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ ส่วนใหญ่คนไข้จะป่วยมากจนต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่แล้ว
  3. เช้าวันตรวจรับประทานยาลดความดันโลหิตได้ แต่ให้งดยาเบาหวาน 1 มื้อตอนเช้า
  4. ถอดฟันปลอมให้ญาติเก็บไว้ก่อนเข้าห้องตรวจ

ขั้นตอนการตรวจ

พยาบาลพ่นยาชาในปากของผู้ป่วยขณะนั่งบนเตียงตรวจ ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย วิสัญญีแพทย์ให้ยาคลายความวิตกกังวล พยาบาลนำอุปกรณ์กันฟันกัดกล้องให้ผู้ป่วยกัดเบา ๆ จากนั้นแพทย์จะใส่กล้องตรวจเข้าทางปาก โดยให้ผู้ป่วยช่วยกลืนซึ่งจะทำให้การใส่กล้องง่ายขึ้น ขณะตรวจอาจมีน้ำลายไหลออกมา พยาบาลจะทำการดูดน้ำลายให้เป็นระยะ ๆ ห้ามกลืนน้ำลายขณะที่กล้องอยู่ในลำคอเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สำลัก ผู้ป่วยหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ยาว ๆ ทางจมูก ไม่เกร็ง ไม่ขยับตัว เบี่ยงเบนความสนใจ โดยมองภาพการตรวจบนจอภาพ

เมื่อกล้องเข้าไปจนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำใส้เล็ก แพทย์จะฉีดสารทึบแสงและถ่ายภาพเอกซเรย์ หากพบความผิดปกติ เช่น นิ่ว จะดึงนิ่วออก หรือพบว่ามีการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีหรือท่อตับอ่อน ก็จะใส่ท่อระบายน้ำดีคาไว้ ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 1-2 ชั่วโมง

หลังตรวจ

คนไข้จะอยู่ในห้องพักฟื้นอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง พอรู้ตัว ตื่นดี แพทย์ถึงจะให้กลับบ้านหรือกลับหอผู้ป่วย ห้ามดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารจนกว่าคอจะหายชา เมื่อคอหายชาแล้ว ให้ทดลองจิบน้ำ ถ้าไม่สำลักจึงดื่มได้ หลังยาชาหมดฤทธิ์อาจมีอาการเจ็บคอเหลืออยู่บ้าง แล้วจะค่อย ๆ หายไปใน 1-2 วัน ระหว่างนี้ไม่ควรกินของร้อนจัดหรือเผ็ดจัด

ก่อนกลับบ้านแพทย์จะแจ้งให้ทราบว่าควรงดยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด แอสไพริน ต่ออีกกี่วัน และจะนัดมาฟังผลชิ้นเนื้อ (หากมีการส่งตรวจ) หากยังง่วงอยู่ไม่ควรขับรถกลับเอง

เมื่อถึงบ้านให้ผู้ป่วยสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดมาก บริเวณลำคอ หน้าอก ท้อง หายใจลำบาก มีไข้สูง หนาวสั่น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

หากไม่มีอาการผิดปกติให้รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวต่ออีก 2-3 วัน และกินยาตามที่แพทย์จัดให้ (ถ้ามี)

บรรณานุกรม

  1. "Endoscopic retrograde cholangiopancreatography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (28 กันยายน 2563).
  2. Marcelle Meseeha and Maximos Attia. 2020. "Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography (ERCP)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (28 กันยายน 2563).
  3. Ahmad Malas. 2019. "Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography (ERCP)" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (28 กันยายน 2563).