อัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography)

อัลตราซาวด์หัวใจมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Echocardiography คนไทยเรียกทับศัพท์สั้น ๆ ว่า "เอ๊คโค่" เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกด้านหน้าของหัวใจ (Transthoracic echocardiography, TTE) หรือผ่านทางหลอดอาหารด้านหลังของหัวใจ (Transesophageal echocardiography, TEE) เพื่อสะท้อนภาพภายในหัวใจและวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ หากตรวจภายหลังออกกำลังจะเรียกว่า Stress echocardiography

การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจสามารถบอกเราได้ 5 เรื่องสำคัญ คือ

  1. ขนาดหัวใจแต่ละห้อง และหลอดเลือดแดงเอออร์ตาที่ออกจากหัวใจ หากห้องใดผิดปกติแสดงว่าลิ้นหัวใจที่เปิดเข้าหรือเปิดออกมีปัญหา หรือมีรูรั่วที่ผนังกั้นห้อง ซึ่งมักเป็นตั้งแต่เกิด หากขนาดของหลอดเลือดผิดปกติแสดงว่ามีการตีบ รั่ว หรือโป่งพองของผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่เกิดหรือมาเป็นในภายหลัง
  2. ปกติเส้นผ่าศูนย์กลางภายในขณะคลายตัวของหัวใจห้องบนทั้งซ้ายขวาและที่โคนของเอออร์ตาควร < 4 cm, ห้องล่างซ้ายจะประมาณ 4-6 cm, ห้องล่างขวาจะประมาณ 1-3 cm, ขนาดของห้องล่างขวา (RV) ควร < 0.6 x ขนาดของห้องล่างซ้าย (LV)

  3. ความหนาและความสมบูรณ์ของผนังหัวใจขณะบีบตัว บางครั้งหัวใจโตอาจเกิดจากผนังห้องหัวใจด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกด้านหนาตัว การหนาตัวบางส่วนทำให้การบีบตัวของห้องนั้นไม่สมดุลกัน การหนาตัวทั้งหมดทำให้ปริมาตรภายในห้องนั้นเล็กลง (รับเลือดเข้ามาได้น้อยลง)
  4. ปกติทางออกของหัวใจห้องล่างขวา (Right ventricular outflow tract, RVOT) จะบาง ถ้าหนา > 5 mm ถือว่าผิดปกติ, ผนังกั้นห้องและผนังด้านหลังขณะหัวใจคลายตัวจะหนาประมาณ 6-10 mm, ผนังห้องล่างซ้ายขณะบีบตัวควรหนากว่าตอนคลายตัว > 50% ถ้าหนาขึ้น < 50% แสดงว่าหัวใจบีบตัวไม่ดี (hypokinesia/akinesia ถ้าบีบแล้วป่องออกเรียกว่า dyskinesia)

  5. ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจคนเรามี 4 ลิ้น คือ tricuspid, pulmonic, mitral, และ aortic valves สองลิ้นหลังมีความสำคัญกว่าสองลิ้นแรก เพราะอยู่ที่ทางเข้า-ออกของหัวใจห้องล่างซ้าย ลิ้นหัวใจผิดปกติอาจเป็นลักษณะตีบหรือรั่ว มาก-น้อยแล้วแต่ความรุนแรง ลิ้น mitral มีอีกพยาธิสภาพที่พบบ่อย คือ แลบ (Mitral valve prolapse, MVP) ลิ้น aortic ปกติจะมี 3 แฉก เด็กบางคนเกิดมามีเพียง 2 แฉก (bicuspid aortic valve) ก็อาจทำให้ลิ้น aortic ตีบง่ายเมื่อโตขึ้น
  6. นอกจากดูโครงสร้างลิ้นที่อาจผิดปกติแล้ว การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจยังสามารถเห็นก้อนของเยื่อบุหัวใจที่ติดเชื้อ ซึ่งมักติดอยู่ที่ลิ้นหัวใจ เรียกว่า vegetation ถ้าพบก็วินิจฉัยโรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective endocarditis) ได้เลย

  7. ประสิทธิภาพการบีบและคลายตัวของหัวใจ ประสิทธิภาพการบีบตัวของหัวใจดูที่เปอร์เซนต์การบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายเพื่อส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายในแต่ละครั้ง (LV Ejection fraction, LVEF) ปกติจะประมาณ 50-70%
  8. ประสิทธิภาพการคลายตัวของหัวใจดูที่ E และ A wave ช่วงหัวใจคลายตัว ทันทีที่หัวใจคลายตัว เลือดจากห้องบนจะไหลเทเข้าห้องล่างเอง (passive flow, E wave) จากนั้นห้องบนค่อยบีบตัวช่วยไล่เลือดที่เหลือลงมาจนหมด (active flow, atrial kick, A wave) ปกติ E/A = 1.0-2.0 ถ้าหัวใจคลายตัวไม่ดีก็ต้องอาศัย atrial kick ในการไล่เลือดลงสู่ห้องล่างมากขึ้นทำให้ E/A < 1.0 (reversed E/A ratio)

  9. ปริมาณน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ปกติเราจะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจเล็กน้อย เพื่อช่วยหล่อลื่นไม่ให้หัวใจครูดกับถุงหุ้มเวลาบีบและคลายตัว หากมีโรคที่ทำให้ปริมาณน้ำในช่องนี้มากขึ้น น้ำจะมีแรงดันไม่ให้หัวใจคลายตัวรับเลือดเข้ามาเติม ก็จะเกิดภาวะช็อกจากไม่มีเลือดส่งออกไปเลี้ยงร่างกายอย่างเพียงพอ
** ตัวเลขต่าง ๆ ข้างต้นเป็นขนาดของหัวใจผู้ใหญ่ ในเด็กก็จะมีมาตรฐานของแต่ละช่วงวัย

ข้อบ่งชี้ในการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ

  1. สงสัยมีลิ้นหัวใจหรือโครงสร้างอื่นของหัวใจผิดปกติ
  2. วัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจก่อนทำหัตถการที่สำคัญ เช่น ใส่สายฟอกเลือดเป็นประจำในผู้ป่วยไตวาย เตรียมผ่าตัดปอดหรือหัวใจ สวนหลอดเลือดหัวใจ จี้ใยไฟฟ้าหัวใจ ฯลฯ
  3. ประเมินประสิทธิภาพของหัวใจ และวินิจฉัยสาเหตุของหัวใจล้มเหลว
  4. วินิจฉัยภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
  5. หา vegetation ในผู้ป่วยที่สงสัยเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบ
  6. หาลิ่มเลือด (embolism) ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองอุดตัน และสงสัยว่าอาจมาจากหัวใจ
  7. วินิจฉัยภาวะ aortic dissection

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. มีญาติมาด้วย เพราะแพทย์อาจขอให้ไปซื้อยาหรือทำธุระให้ผู้ป่วย และญาติต้องพาผู้ป่วยกลับบ้านหากแพทย์ใช้ยาระงับประสาทในกรณีตรวจ TEE
  2. ควรสวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่สะดวกต่อการถอด หากตรวจ Stress echocardiogram ควรสวมรองเท้าที่สามารถเดินหรือวิ่งได้คล่องตัวโดยไม่หลุด
  3. หากตรวจ TEE ต้องงดอาหาร 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ หากตรวจ TTE หรือ Stress echocardiogram ต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ 2-3 ชั่วโมง

ขั้นตอนการตรวจ

เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงราบ ตะแคงซ้ายเล็กน้อย (มือซ้ายพาดขึ้นบน) เปิดส่วนของเสื้อผ้าบริเวณหน้าอกออก ทำการติดแผ่นขั้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจจำนวน 3 จุด (บริเวณไหล่ทั้ง 2 ข้าง และบริเวณท้อง 1 จุด) จากนั้นแพทย์จะใช้เจลใสป้ายบริเวณหน้าอก และใช้หัวตรวจซึ่งไม่มีความแหลมกดบริเวณหน้าอกและขยับไปมาตามตำแหน่งที่ต้องการให้เห็นภาพ แพทย์อาจสั่งให้เปลี่ยนท่านอนในระหว่างการตรวจ เพื่อให้ได้ภาพหัวใจที่ชัดเจนที่สุด

สำหรับการตรวจ TEE แพทย์จะให้ผู้รับการตรวจอมยาชาและพ่นยาชา ติดแผ่นขั้วไฟฟ้าหัวใจ 3 จุดเช่นกัน ให้นอนตะแคงซ้าย ก้มศีรษะลง จากนั้นแพทย์จะใส่กล้องตรวจซึ่งเคลือบด้วยเจลหล่อลื่นผ่านปากเข้าไปในหลอดอาหาร ระหว่างการสอดแพทย์จะบอกให้ช่วยกลืนเพื่อให้ท่อเข้าไปได้ง่าย ขณะตรวจแพทย์จะหมุนหัวตรวจและเลื่อนกล้องขึ้นลงเพื่อดูหัวใจจากด้านหลัง หากมีน้ำลายให้ปล่อยไหลออก อย่ากลืนโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

ส่วน Stress echocardiography เจ้าหน้าที่จะทำการติดเครื่องวัดความดันโลหิตและแผ่นขั้วไฟฟ้าหัวใจ 3 จุด ผู้ป่วยนอนบนเตียงเพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนออกกำลัง พยาบาลเปิดเส้นเลือดให้เผื่อฉุกเฉิน จากนั้นแพทย์จะดูผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจประเมินหาข้อห้ามในการกำลังหนักก่อน หากไม่มี บางแห่งจะให้ผู้ป่วยเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยานจนถึงชีพจรเป้าหมาย บางแห่งจะให้ยา Dobutamine หยดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ระหว่างนั้นจะตรวจอัลตราซาวด์หัวใจเป็นระยะ ๆ และตรวจอีกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ

บรรณานุกรม

  1. "Basic echocardiography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Sydney Adventis Hospital. (19 พฤศจิกายน 2563).
  2. รังสฤษฎ์ รังสรรค์. 2013. "Basic Echocardiography in ER." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ER GOLDBOOK. (19 พฤศจิกายน 2563).
  3. "Echocardiogram." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic. (19 พฤศจิกายน 2563).
  4. Ashley EA and Neibauer J. 2004. "Chapter 4 Understanding the echocardiogram." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cardiology Explained. (19 พฤศจิกายน 2563).
  5. Eric Yu. "How to Interpret Your Cardiovascular Image Reports (Echo Interpretation)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Heart and Stroke. (19 พฤศจิกายน 2563).
  6. Alex McLellan and David Prior. 2012. "Cardiac stress testing: Stress electrocardiography and stress echocardiography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Aus Fam Physician. 2012;41(3):119-122. (14 พฤศจิกายน 2563).