ระดับเอนไซม์ CK-MB ในเลือด
(Creatine kinase-MB subunit)

เอนไซม์ CK ประกอบด้วย subunit M และ B จับคู่กัน จึงมีโครงสร้าง 3 แบบ คือ CK-MM, CK-MB, และ CK-BB แต่ทำหน้าที่เติมหมู่ฟอสเฟตลงใน ADP (ADP + creatine phosphate → ATP + creatine) เหมือนกัน จึงเรียกเอนไซม์เหล่านี้ว่า isozymes โดยปกติในเลือดจะมีสัดส่วน CK-MM 96-100%, CK-MB 0-6%, และ CK-BB 0% ของ Total CK

CK-MB พบที่กล้ามเนื้อหัวใจเท่านั้น จึงค่อนข้างจำเพาะต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่า Total CK ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ระดับ CK-MB จะเริ่มสูงขึ้นประมาณ 2-4 ชั่วโมงหลังมีอาการ สูงสุดที่ 18 ชั่วโมง และกลับมาปกติในเวลา 48 ชั่วโมง ยิ่งถ้า CK-MB/Total CK ≥ 2.5 ก็ยิ่งสนับสนุนการตายของกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น

การวัดระดับ CK-MB มี 2 แบบ คือ

  1. วัดระดับ CK-MB activity มีหน่วยเป็น U/L วิธีนี้อาจพบผลบวกลวงได้จาก Macro CK และภาวะมะเร็งแพร่กระจาย
  2. วัดระดับ CK-MB mass มีหน่วยเป็น ng/mL เป็นการวัดความเข้มข้นของ CK-MB โดยตรง จึงขจัดปัญหาผลบวกลวง วิธีนี้เป็นมาตรฐานของการตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายมานาน ก่อนที่จะมีการใช้ระดับ Troponin T และ I มาช่วยในปัจจุบัน

    ** ในรพ.หรือคลินิกที่ไม่มีแพทย์โรคหัวใจ หากคนไข้มาด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อย เหงื่อแตก ชีพจรเร็ว ความดันตก คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ให้ส่งต่อไปยังศูนย์ที่มีศักยภาพในการวินิจฉัยและรักษาทันที ไม่ควรรอผล CK-MB (ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง) เพราะจะทำให้การรักษาล่าช้าไป

    ng/mL

    บรรณานุกรม

    1. Parichart Junpaparp. 2019. "Creatine Kinase." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (7 พฤศจิกายน 2563).
    2. "Creatine kinase (CK), Creatine phosphokinase (CPK)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Labpedia.net. (7 พฤศจิกายน 2563).
    3. "Cardiac marker – Part 2 – CK-MB (Cardiac Enzyme)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Labpedia.net. (12 พฤศจิกายน 2563).
    4. นวพรรณ จารุรักษ์. 2004. "CK-MB activity และ CK-MB mass ในการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Chula Med J. 2004;48(8)553-563 (12 พฤศจิกายน 2563).
    5. "CK-MB." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (12 พฤศจิกายน 2563).

    คำชี้แจงที่สำคัญ (Disclaimer): ผลการแปลต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากแพทย์ก่อนนำไปใช้วินิจฉัยหรือรักษา ผู้จัดทำมิได้ยืนยันในความถูกต้องของสูตรที่ได้เลือกมาหรือที่ได้ปรับให้เหมาะสม และผลการแปลก็ไม่สามารถทดแทนดุลยพินิจทางคลินิกของแพทย์ได้ ผู้จัดทำจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ใช้พึ่งพาผลการแปลหรือคำแนะนำในเอกสารนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน