ระดับแลคเตทในเลือด (Plasma lactate)

ในขบวนการสร้างพลังงานจากกลูโคสหรือกรดอะมิโน ไพรูเวทเป็นสารตัวกลางสำคัญที่จะถูกเปลี่ยนเป็น Acetyl CoA แล้วเข้า Krebs cycle ได้เป็นพลังงาน ส่วนน้อยถึงจะถูกเอนไซม์ LDH เปลี่ยนเป็นแลคเตท ดังนั้น แลคเตทในระดับต่ำ ๆ (0.5-2.2 mmol/L ในเลือดดำ และ 0.5-1.6 mmol/L ในเลือดแดง) จึงมีอยู่ในร่างกายเป็นปกติ แลคเตทสามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นกลูโคสได้อีกทาง Cori cycle ที่ตับและไต การหมุนเวียนนี้จึงทำให้ระดับแลคเตทในเลือดไม่สูงเกินไป

แต่ในภาวะที่ร่างกายขาดออกซิเจน เช่น ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือในภาวะที่เอนไซม์ PDH ไม่ทำงาน เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ไพรูเวทจะถูกเปลี่ยนเป็นแลคเตทมากขึ้น และหากตับหรือไตมีปัญหา ไม่สามารถกำจัดแลคเตทได้ทัน ระดับแลคเตทในเลือดก็จะสูงขึ้น เมื่อตรวจพบแลคเตทในเลือดสูงเกิน 2.2 mmol/L จำเป็นต้องหาสาเหตุดังรูปข้างล่าง ระดับแลคเตทที่สูงเกิน 4 mmol/L ถือว่ามีภาวะ Lactic acidosis คือ สูงพอที่จะทำให้เลือดเป็นกรดได้ (pH < 7.35)

หากพบแลคเตทในเลือดผิดปกติแต่หาสาเหตุต่าง ๆ ไม่พบ อีกทั้งไม่ได้ใช้ยาใด ๆ และไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งแรกที่ควรนึกถึงคือภาวะขาดวิตามินบี 1 ซึ่งพบบ่อยขึ้นในคนที่รับประทานข้าวขัดสีเป็นประจำ

การตรวจระดับแลคเตทในเลือดทำได้ 2 วิธี คือ LDH method กับ lactic acid oxidase method วิธีตรวจอย่างหลังอาจเกิดผลลบลวงได้หากในเลือดมี glycolate ซึ่งมาจากพิษของ ethylene glycol

คำว่า "Lactate gap" หมายถึง มีความแตกต่างกันของระดับแลคเตทเมื่อตรวจจากทั้งสองวิธี ถ้าเป็นเช่นนี้ให้สงสัยว่าอาจจะมีพิษของ ethylene glycol เกิดขึ้น

บรรณานุกรม

  1. Myma B. Schnur. 2017. "Elevated Lactate – Not just a marker for sepsis and septic shock." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Lippincott Nursing Center. (26 กุมภาพันธ์ 2564).
  2. Rebecca Lazarus. 2019. "How to Interpret an Elevated Lactate on the Inpatient Wards." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clinical Correlations. (26 กุมภาพันธ์ 2564).
  3. "Lactate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. (26 กุมภาพันธ์ 2564).
  4. Jan Bakker. 2003. "Increased blood lactate levels: a marker of...?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Acute Care Testing. (26 กุมภาพันธ์ 2564).
  5. Lars W. Andersen, et al. 2013. "Etiology and therapeutic approach to elevated lactate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clin Proc. 2013;88(10):1127–1140. (3 มีนาคม 2564).
  6. "Lactate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา medschool.co. (3 มีนาคม 2564).