MRA หลอดเลือดโคโรนารี
(Coronary Magnetic Resonance Angiography)
ขณะที่ MRI หัวใจได้รับความนิยมมากกว่า CT หัวใจเพราะให้ภาพที่ชัดกว่าและคนไข้ก็ปลอดภัยกว่า แต่ MRA ของหลอดเลือดโคโรนารียังได้รับความนิยมน้อยกว่า CTA ของหลอดเลือดโคโรนารี หรือแม้กระทั่งการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiography) ที่ทำกันมานาน เพราะให้ MRA ใช้เวลาทำนาน ประมวลภาพยาก (เพราะมีการหายใจมารบกวนภาพของหลอดเลือดซึ่งมีขนาดเล็ก) และราคาแพงกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม MRA ก็มีข้อดีกว่าตรงที่คนไข้ไม่ต้องรับรังสีเอกซ์และ iodinated contrast, MRA ละเอียดถึงขั้นสามารถมองเห็นผนังของหลอดเลือดแดงโคโรนารีได้ ซึ่งมีประโยชน์ในการดู aorto-coronary bypass grafts ว่าใช้ได้ดีหรือไม่ นอกจากนั้น เทคนิคในปัจจุบันยังสามารถมองเห็นหลอดเลือดดำโคโรนารีได้ด้วย ซึ่งทำให้ทราบตำแหน่งที่เหมาะสมในการใส่ internal pacemaker
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ MRA หลอดเลือดโคโรนารี
- ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงโคโรนารีและการโป่งพองของผนัง (Coronary Anomalies and Aneurysms) ซึ่งอาจพบในโรค Kawasaki disease
- ประเมิน Coronary Bypass grafts ว่าใช้งานได้ดีหรือมีการตีบตันซ้ำหรือไม่
- วินิจฉัยภาวะตีบตันของหลอดเลือดแดงโคโรนารีในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำ Coronary CTA หรือ Coronary angiography ได้
- ต้องการดูกายวิภาคของหลอดเลือดดำโคโรนารี
- ต้องการดูผนังหลอดเลือดโคโรนารี
ข้อห้ามในการตรวจ MRI ของทุกอวัยวะ
- ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (cardiac pacemakers) หรือเครื่องกระตุกหัวใจ (cardiac defibrillators)
- เคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และใช้ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะบางอย่าง (metallic heart valve prosthesis)
- เคยผ่าตัดสมอง และมีคลิปหนีบหลอดเลือดในสมองชนิดที่ไม่ใช้ไททาเนียม (intracerebral aneurysm clips)
- เคยผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง (Deep brain stimulator) หรือเส้นประสาทเวกัส (Vagal nerve stimulation)
- เคยผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (cochlear implantation)
- มีโลหะตะกั่วฝังอยู่ในตัว
- มีโลหะหรือเศษเหล็กฝังอยู่บริเวณแก้วตา
- แพ้ยาบางชนิดที่ใช้ในการตรวจ ได้แก่ Gadolinium, Adenosine, Dobutamine เป็นต้น
- กลัวที่แคบอย่างมาก (severe claustrophobia)
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
- งดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
- ถอดฟันปลอม เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลหะทุกชนิด เช่น นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรอื่น ๆ ที่ใช้แถบแม่เหล็กบันทึก
- สุภาพสตรีควรเช็ดเครื่องสำอางออกก่อนเข้าห้องตรวจโดยเฉพาะสีทาเปลือกตา (Eye shadow) และขนตา (Mascara) เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของโลหะ
- สตรีมีครรภ์ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่านอนบนเตียงตรวจ ให้ผู้ป่วยนอนให้นิ่งที่สุดเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดที่สุด อาจต้องกลั้นหายใจเป็นระยะ ๆ (ครั้งละประมาณ 5-10 วินาที) ระหว่างการตรวจ ขณะตรวจ
เจ้าหน้าที่จะควบคุมเครื่องอยู่ด้านนอก แต่จะมีกล้องวงจรปิดคอยติดตามดูผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา และผู้ป่วยเองก็สามารถสื่อสารกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ได้ทางไมโครโฟน ในบางกรณีอาจมีการฉีดสาร Gadolinium หรือสารทึบรังสีอื่นเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อแยกรายละเอียดของโรค ระหว่างที่เครื่องประมวลภาพจะได้ยินเสียงดังเป็นระยะ ๆ เวลาที่ใช้ตรวจประมาณ 60-90 นาที
หลังการตรวจ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นหรือนอนในโรงพยาบาล ยกเว้นเป็นผู้ป่วยในอยู่ก่อน
บรรณานุกรม
- Marc Dewey. 2011. "Coronary CT versus MR Angiography: Pro CT—The Role of CT Angiography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiology. 2011;258(2):329-339 (22 พฤศจิกายน 2563).
- Amedio Chiribiri, et al. 2013. "Magnetic Resonance Coronary Angiography: Where Are We Today?." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Curr Cardiol Rep. 2013;15(2):328. (22 พฤศจิกายน 2563).
- Daniel J Bell, et al. "Coronary MR angiography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiopaedia. (22 พฤศจิกายน 2563).
- "Coronary Artery MRA." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Quest & Ans in MRI. (22 พฤศจิกายน 2563).
- Ahmed Hamdy, et al. "Cardiac MR Assessment
of Coronary Arteries." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CVIA. 2017;1(1):49-59 (22 พฤศจิกายน 2563).