คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG, EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 leads สามารถบอกเราได้ 5 เรื่องสำคัญ คือ

  1. อัตราการเต้นของหัวใจ ปกติควรจะประมาณ 50-90 ครั้ง/นาที ต่ำกว่านี้หัวใจอาจฉีดเลือดไปไม่พอ สูงกว่านี้หัวใจก็ทำงานมากเกินไป ขณะพักหากเกิน 100 ครั้ง/นาที ต้องหาสาเหตุ
  2. จังหวะการเต้นของหัวใจ ปกติควรเป็น Sinus rhythm คือ มี P wave นำ QRS complex ทุกตัว, รูปร่างเหมือนกันหมด, และหัว ตั้งใน lead I, II, aVF หัวกลับใน lead aVR
  3. จังหวะอื่นที่อาจเป็นได้ เช่น Atrial rhythm, AV nodal or junctional rhythm, Ventricular rhythm จังหวะเหล่านี้จะเรียกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหมด จำเป็นต้องติดตามการรักษากับแพทย์โรคหัวใจ

    นอกจากนั้นยังต้องดูความสม่ำเสมอของการเต้น ว่ามีตัวแทรกจังหวะ ตัวสะดุดช้า หรือมีตัวที่หายไปเฉย ๆ หรือไม่ มีระยะห่างของ P-R, Q-T ปกติไหม มีความกว้างของ P wave, QRS complex ปกติหรือไม่

    ความผิดปกติของจังหวะบางอย่างก็แก้ได้ บางอย่างก็แก้ไม่ได้ ที่แก้ไม่ได้บางอย่างก็ไม่สำคัญและไม่อันตราย บางอย่างก็ต้องกินยาคุมจังหวะไว้ (เหมือนคุมเบาหวาน ความดัน ที่แก้ไม่ได้)

  4. แกนนำไฟฟ้าของหัวใจ ปกติไฟฟ้าควรวิ่งจากขวาบนลงซ้ายล่าง หากเอียงซ้าย (left axis deviation, LAD) มักพบในรายที่มีหัวใจห้องล่างซ้ายโตหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากเอียงขวา (right axis deviation, RAD) มักพบในรายที่มีหัวใจห้องล่างขวาโต
  5. ขนาดของหัวใจ ปกติขนาดของหัวใจดูได้ชัดกว่าจากเอกซเรย์ทรวงอก ส่วนคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยบอกถึงการหนาตัวของผนังหัวใจห้องล่างได้ดีกว่า โดยจะรายงานเป็น right ventricular hypertrophy (RVH), left ventricular hypertrophy (LVH) ส่วนห้องบนจะรายงานเป็น left atrium enlargement (LAE), right atrium enlargement (RAE)
  6. คนปกติไม่ควรจะมีหัวใจโต ภาวะหัวใจโตเป็นความเสื่อมจากโรคต่าง ๆ ที่ใช้เวลานานในการเกิด และไม่สามารถทำให้หดกลับมาปกติได้อีก ภาวะหัวใจโตอาจดำเนินต่อไปเป็นหัวใจล้มเหลวหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อเริ่มมีหัวใจโตแล้ว ไม่ควรดื่มน้ำวันละหลายลิตรอย่างที่คนปกติกระทำเพื่อบำรุงสุขภาพ ควรดื่มเพียงเพื่อดับกระหายน้ำเท่านั้น

  7. กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถแสดงลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายในอดีตได้ และยังบอกด้านหรือบอกเส้นได้ด้วยว่าน่าจะเป็นที่เส้นไหน หากพบความผิดปกติที่ยังไม่เคยตรวจเพิ่ม แพทย์จะส่งต่อให้แพทย์โรคหัวใจตรวจเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจยังบอกถึงความผิดปกติของเกลือแร่ โดยเฉพาะระดับโพแทสเซียมในเลือดได้คร่าว ๆ และช่วยสนับสนุนภาวะถุงลมปอดโป่งพอง (COPD) ที่อาจสงสัยว่ามีจากเอกซเรย์ทรวงอก

บรรณานุกรม

  1. S. Bhatia, et al. 2020. "EKG Interpretation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา UTMB Health Pediatrics. (21 กันยายน 2563).
  2. Mathew Jackson. "How to read an ECG." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Geeky Medics. (21 กันยายน 2563).
  3. Damrong Sukitpunyaroj. "ECG INTERPRETATION: ECG INTERPRETATION: the basics." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Thaiheart.Org. (21 กันยายน 2563).
  4. พญ.ณญาวดี กวีนัฏธยานนท์. "การอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจเบื้องต้น." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา วชิรพยาบาล. (21 กันยายน 2563).