ความเปราะของเม็ดเลือดแดง (Osmotic fragility)
เม็ดเลือดแดงปกติมีรูปร่างคล้ายโดนัทที่ไม่มีรู (biconcave disc) เมื่ออยู่ในน้ำเกลือเข้มข้น 0.85-0.9% จะคงสภาพปกติไว้ได้ แต่เมื่อลดความเข้มข้นของน้ำเกลือลงเรื่อย ๆ น้ำจะแพร่เข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เซลล์บวมขึ้น จนถึงความเข้มข้นประมาณ 0.5% เม็ดเลือดแดงจะเริ่มแตก และเมื่อลดความเข้มข้นจนถึง 0.3% เม็ดเลือดแดงจะแตกหมด
การตรวจแบบค่อย ๆ ไล่ระดับความเข้มข้นของน้ำเกลือลงนี้จะได้ผลเป็น Increased, Normal, หรือ Decreased osmotic fragility ดังกราฟรูปข้างล่าง ส่วนการตรวจ Osmotic fragility ที่ใช้เพียงน้ำเกลือที่ความเข้มข้น 0.36% หลอดเดียว แล้วดูว่าเม็ดเลือดแดงแตกหรือไม่ จะให้ผลเป็น Negative หรือ Positive
เม็ดเลือดแดงบางชนิดมีรูปร่างกลมเล็ก ๆ เรียกว่า spherocytes มีอัตราส่วนของพื้นที่ผิวต่อความเข้มข้นของสารภายในเซลล์ต่ำ ขยายรับน้ำไม่ได้มาก จึงแตกง่าย (Increased osmotic fragility, Negative test) คือแม้น้ำเกลือเข้มข้นสูงก็ยังแตก ถ้าแตกแปลว่าให้ผลลบ แล็บบางแห่งถ้าทราบว่าแพทย์ส่งตรวจเพื่อหา spherocytosis จะเอาเลือดเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 37°C เป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนทดสอบ ซึ่งจะยิ่งทำให้ spherocytes แตกง่ายขึ้น
ส่วนเม็ดเลือดแดงชนิด target cells และ hypochromic cells มีอัตราส่วนของพื้นที่ผิวต่อความเข้มข้นของสารภายในเซลล์สูง สามารถขยายได้อีกมาก จึงแตกยาก (Decreased osmotic fragility, Positive test) คือต้องลดความเข้มข้นของน้ำเกลือลงมากกว่าปกติมันถึงจะแตก และที่ความเข้มข้นทั่วไปมันยังทนทาน ไม่แตก ถือว่าให้ผลบวก
target cells พบได้ในโรคธาลัสซีเมียและโรคตับ hypochromic cells มักพบในภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่วน spherocytes พบในโรค Hereditary spherocytosis และ Immune hemolytic anemia ดังนั้นในการทดสอบความเปราะของเม็ดเลือดแดงจึงสามารถคัดกรองโรคหรือภาวะบางอย่างได้
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ
- คัดกรองภาวะ spherocytosis ทั้งจากกรรมพันธุ์ และจากโรคภูมิคุ้มกันที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
- คัดกรองโรคธาลัสซีเมีย (มีผลบวกลวงมาก ดูข้างล่าง)
Increased OF, Right shift, Negative test พบได้ใน
- โรค Hereditary spherocytosis
- ภาวะ Autoimmune hemolytic anemia
- โรคมาลาเรีย
- ภาวะที่ขาดเอ็นไซม์ Pyruvate kinase รุนแรง
- ภาวะโซเดียมในเลือดสูง (Hypernatremia, Na > 155 mEq/L)
Decreased OF, Left shift, Positive test พบได้ใน
- โรค Thalassemia major (ถ้า minor อาจให้ผลลบได้)
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็ก (Iron deficiency anemia)
- โรคตับเรื้อรัง
- โรค Polycythemia vera
- โรค Sickle cell anemia หลังตัดม้ามออกแล้ว
- ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia, Na < 130 mEq/L)
บรรณานุกรม
- "คู่มือทางห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (1 ตุลาคม 2563).
- Usman Khalid. 2020. "Osmotic Fragility of Erythrocytes." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (4 ตุลาคม 2563).
- "Osmotic Fragility of Red Blood Cells (Unincubated And Incubated)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ClinLab Navigator (4 ตุลาคม 2563).
- นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 2011. "OF Test กับธาลัสซีเมีย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา DrSant บทความสุขภาพ (4 ตุลาคม 2563).