คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง (Exercise stress test, EST, Exercise tolerance test, ETT)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังเป็นการทดสอบภาวะหัวใจขาดเลือดหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สัมพันธ์กับการออกแรงในชีวิตประจำวัน โดยให้ผู้ป่วยเดินบนสายพานเลื่อนหรือปั่นจักรยานเพื่อให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นจนถึงอัตราเป้าหมาย แล้วดูว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติหรือไม่
คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่แสดงลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดคือ การมี ST-segment depression (รูปที่ 1) หรือ ST-segment elevation (รูปที่ 2) > 1 mm (1 ช่องเล็ก) บางรายเมื่อออกกำลังแล้วจะเกิดหัวใจเต้นรัวผิดจังหวะ (รูปที่ 3)
การตรวจ EST เป็นการกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติที่หัวใจ จึงต้องมีแพทย์เฝ้าดูตลอดเวลา ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อห้ามทำมากมาย ดังนี้
- เพิ่งมีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมาไม่เกิน 6 วัน
- มีหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ชนิดที่เรียกว่า Unstable angina (rest pain) ไม่เกิน 2 วัน
- มีหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ควบคุมไม่ได้ และทำให้เกิดอาการหรือความดันโลหิตต่ำ
- มีโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบอย่างรุนแรงและมีอาการ
- มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่การรักษายังไม่ได้ผล
- มีภาวะเส้นเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน
- มีลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ
- มีภาวะเส้นเลือดแดงเอออร์ตาฉีกขาดเฉียบพลัน
- มีการเจ็บป่วยเฉียบพลันที่อาจมีผลต่อการทดสอบ เช่น การติดเชื้อ โรคไตวาย โรคไทรอยด์เป็นพิษ, Deep vein thrombosis, Myocarditis, Pericarditis
- มีความดันโลหิตตัวบน ≥ 200 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ ความดันโลหิตตัวล่าง ≥ 110 มิลลิเมตรปรอท
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งชนิดเร็วและช้าผิดจังหวะอยู่แล้ว
- มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจโตชนิดที่เรียกว่า Hypertrophic cardiomyopatthy หรือภาวะอื่นที่มีการอุดตันของช่องทางออกของหัวใจห้องล่างซ้าย
- มีปัญหาเรื่องการเดิน ข้อเข่า หรือมีโรคปอด ซึ่งทำให้เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลัง และไม่สามารถออกกำลังจนอัตราการเต้นของหัวใจถึงเป้าหมาย
- มีสภาพจิตใจหรือร่างกายผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการทดสอบ
- ตัวผู้ป่วยไม่ให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
หากไม่มีข้อห้ามดังกล่าวทั้งหมด ข้อบ่งชี้ในการตรวจได้แก่
- เพื่อวินิจฉัยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกและมีปัจจัยเสี่ยง แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักยังไม่แสดงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชัดเจน
- เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
- เพื่อประเมินสมรรถภาพร่างกายและการตอบสนองต่อการรักษา ในรายที่มีหัวใจล้มเหลว หรือรอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
- เพื่อพยากรณ์โรคและกำหนดแนวทางการรักษา ในผู้ที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
- เพื่อหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย
การเตรียมตัวก่อนตรวจ EST
- หยุดยากลุ่มที่ต้านตัวรับเบตา (β-Blockers) และยา Digoxin ก่อนถึงวันตรวจประมาณ 1 สัปดาห์
- หยุดยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) ในวันนัดตรวจ
- งดน้ำ อาหาร งดสูบบุหรี่ 2 ชั่วโมง ก่อนการตรวจ
- ควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและเหมาะกับการออกกำลังกาย รวมทั้งสวมใส่รองเท้าที่สามารถเดินหรือวิ่งได้คล่องตัวโดยไม่หลุด
ขั้นตอนการตรวจ
- แพทย์จะตรวจประเมินหาข้อห้ามในการทำ EST ก่อน
- เจ้าหน้าที่จะทำการติดเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรแบบอัตโนมัติ และติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจบริเวณหน้าอก และจัดเตรียมเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน
- แพทย์จะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนการทดสอบ ทั้งท่านอนและท่ายืน
- ชีพจรเป้าหมายคำนวณจาก
เพศชาย (220 - อายุ) x 0.85
เพศหญิง (210 - อายุ) x 0.85
- ขณะออกกำลังกายจะมีการวัดความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะ ๆ โดยแพทย์จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากจอมอนิเตอร์
- แพทย์อาจให้หยุดการทดสอบก่อนถึงชีพจรเป้าหมาย ถ้ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
- ST segment depression > 3 mm
- ST segment elevation > 1 mm ใน non-Q wave lead
- Frequent ventricular extrasystoles (ยกเว้นเป็นการตรวจเพื่อทดสอบ ventricular arrhythmia)
- Onset of ventricular tachycardia
- New atrial fibrillation, supraventricular tachycardia, bundle branch block, second or third degree heart block
- ผู้ป่วยขอหยุดเพราะเหนื่อยเกินไป วิงเวียน ปวดขา ความดันตก หรือความดันขึ้นสูงมาก
- หัวใจหยุดเต้น!
- หลังตรวจแพทย์จะให้นั่งหรือนอนพักจนคลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับมาเหมือนก่อนทำ EST หากความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่หายไป ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล
บรรณานุกรม
- Mark D. Darrow. 1999. "Ordering and Understanding the Exercise Stress Test." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 1999;59(2):401-410. (14 พฤศจิกายน 2563).
- Jonathan Hill and Adam Timmis. "Exercise tolerance testing." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา BMJ. 2002;324(7345):1084–1087. (14 พฤศจิกายน 2563).
- "การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST (Exercise Stress Test)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (14 พฤศจิกายน 2563).
- Alex McLellan and David Prior. 2012. "Cardiac stress testing: Stress electrocardiography and stress echocardiography." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Aus Fam Physician. 2012;41(3):119-122. (14 พฤศจิกายน 2563).