การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
(Esophagogastroduodenoscopy, EGD)
ทางเดินอาหารส่วนบนที่กล้องสามารถผ่านไปได้ คือ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนั่ม การส่องกล้องชนิดนี้เป็นทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค โดยมีข้อบ่งชี้ในการตรวจดังนี้
- วินิจฉัย...
- อาการในท้องที่ยังมีอยู่ หลังได้รับการรักษาที่เหมาะสมไปสักพักหนึ่งแล้ว
- อาการในท้องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีประวัติกินยาแก้ปวด แต่มีน้ำหนักลดแทน (คัดกรองโรคมะเร็ง)
- อาการกลืนลำบากหรือกลืนแล้วเจ็บ
- อาการคล้ายกรดไหลย้อนที่กินยาแล้วไม่ดีขึ้น
- อาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ที่หาสาเหตุไม่ได้ในทารก
- อาการอาเจียนบ่อย ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้
- ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหาร ทั้งเฉียบพลัน (อาเจียนเป็นเลือด) และเรื้อรัง (ซีด + stool occult blood positive + ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ปกติ)
- ประเมินภาวะท้องเสียในผู้ป่วยที่มีโรคของลำไส้เล็ก เช่น Celiac disease.
- ดูการบาดเจ็บของทางเดินอาหารหลังกลืนกรด/ด่างเข้าไประยะหนึ่ง
- ตรวจความสมบูรณ์ของทางเดินอาหารส่วนบนก่อนทำการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ประเมินความเรียบร้อยภายในทางเดินอาหาร หลังศัลยแพทย์ผ่าตัด/ต่อทางเดินอาหาร ในห้องผ่าตัด
- วินิจฉัยกลุ่มอาการ Familial Adenomatous Polyposis syndrome (ต้องมีประวัติในครอบครัว)
- ต้องการนำชิ้นเนื้อหรือน้ำในกระเพาะไปตรวจ
- รักษา...
- ดึงวัตถุที่ไม่ใช่อาหารออก
- ถ่างขยาย หรือใส่ stent ในรายที่มีทางเดินอาหารตีบตัน
- รักษาโรค Achalacia ด้วย botulinum toxin หรือ balloon dilation
- รัดหลอดเลือดโป่งพองของหลอดอาหาร (esophageal varices)
- หยุดเลือดออกจากกระเพาะด้วยการจี้หลอดเลือด
- ใส่สายป้อนอาหารทางกระเพาะหรือลำไส้เล็ก (gastrostomy or jejunostomy)
- รักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับทางเดินอาหารส่วนบน
ข้อห้ามในการทำ
- มีลำไส้ทะลุ
- มีเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- มี Toxic megacolon และผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่อาจทนต่อการส่องไม่ได้
สภาพที่ไม่ควรทำถ้าไม่จำเป็น
- มีเม็ดเลือดขาวต่ำมาก
- มีภาวะที่เลือดออกง่าย (เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ)
- มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดกระเพาะหรือลำไส้ทะลุจากการส่อง
- มีหลอดเลือดเอออร์ตาโป่งพอง
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
- ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด แอสไพริน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรงดก่อนหรือไม่ และงดกี่วัน เพราะการส่องที่ไม่ได้เพื่อทำหัตถการใดใดเป็นพิเศษ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกไม่หยุด
- งดน้ำและอาหาร 6 - 8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ บางครั้งแพทย์จะนัดให้มานอนโรงพยาบาล 1 คืนก่อนถึงวันตรวจ
- เช้าวันตรวจรับประทานยาลดความดันโลหิตได้ แต่ให้งดยาเบาหวาน 1 มื้อตอนเช้า
- ถอดฟันปลอมให้ญาติเก็บไว้ก่อนเข้าห้องตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
พยาบาลพ่นยาชาในปากของผู้ป่วยขณะนั่งบนเตียงตรวจ ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย วิสัญญีแพทย์ให้ยาคลายความวิตกกังวล พยาบาลนำอุปกรณ์กันฟันกัดกล้องให้ผู้ป่วยกัดเบา ๆ จากนั้นแพทย์จะใส่กล้องตรวจเข้าทางปาก โดยให้ผู้ป่วยช่วยกลืนซึ่งจะทำให้การใส่กล้องง่ายขึ้น ขณะตรวจอาจมีน้ำลายไหลออกมา พยาบาลจะทำการดูดน้ำลายให้เป็นระยะ ๆ ห้ามกลืนน้ำลายขณะที่กล้องอยู่ในลำคอเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สำลัก ผู้ป่วยหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ยาว ๆ ทางจมูก ไม่เกร็ง ไม่ขยับตัว เบี่ยงเบนความสนใจ โดยมองภาพการตรวจบนจอภาพ แพทย์จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที แต่อาจนานกว่านั้นหากต้องทำหัตถการใดใด
สิ่งที่อาจตรวจพบจากการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน คือ
- ความผิดปกติในหลอดอาหาร เช่น เชื้อรา ตีบตัน แผลถลอก อักเสบ หลอดเลือดโป่งพอง ผนังหนาตัว
- กระเพาะหรือลำไส้อักเสบ
- แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
- ติ่งเนื้อ ซึ่งแพทย์จะตัดออกให้
- เนื้องอก แพทย์จะตัดบางส่วนส่งพยาธิวิทยา
หลังตรวจ
คนไข้จะอยู่ในห้องพักฟื้นอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง พอรู้ตัว ตื่นดี แพทย์ถึงจะให้กลับบ้านหรือกลับหอผู้ป่วย ห้ามดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารจนกว่าคอจะหายชา เมื่อคอหายชาแล้ว ให้ทดลองจิบน้ำ ถ้าไม่สำลักจึงดื่มได้ หลังยาชาหมดฤทธิ์อาจมีอาการเจ็บคอเหลืออยู่บ้าง แล้วจะค่อย ๆ หายไปใน 1-2 วัน ระหว่างนี้ไม่ควรกินของร้อนจัดหรือเผ็ดจัด
ก่อนกลับบ้านแพทย์จะแจ้งให้ทราบว่าควรงดยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด แอสไพริน ต่ออีกกี่วัน และจะนัดมาฟังผลชิ้นเนื้อ (หากมีการส่งตรวจ) หากยังง่วงอยู่ไม่ควรขับรถกลับเอง
เมื่อถึงบ้านให้ผู้ป่วยสังเกตน้ำลายที่บ้วนออกมา อาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย ซึ่งจะค่อยจางไปใน 1-2 วัน หากยังมีเลือดออกมากผิดปกติให้กลับไปพบแพทย์ หรือถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดมาก บริเวณลำคอ หน้าอก ท้อง หายใจลำบาก มีไข้สูง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
หากไม่มีอาการผิดปกติให้รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวต่ออีก 2-3 วัน และกินยาตามที่แพทย์จัดให้ (ถ้ามี)
บรรณานุกรม
- Rajni Ahlawat, et al. 2020. "Esophagogastroduodenoscopy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (27 กันยายน 2563).
- Tony E Yusuf. 2020. "Esophagogastroduodenoscopy (EGD)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (27 กันยายน 2563).
- "What Is an EGD?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา verywellhealth.com (27 กันยายน 2563).